ส.อ.ท.ชี้ความเชื่อมั่นเดือนก.พ.ดีขึ้นจากดีมานด์ผู้บริโภคเพิ่ม ยังห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอฉุดส่งออก ดอกเบี้ยขยับ ต้นทุนค่าไฟพุ่ง เตือนรัฐอย่าเกียร์ว่างเร่งเบิกจ่ายงบพยุงเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.อยู่ที่ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 86.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.66 ที่อยู่ระดับ 93.9 ซึ่งเป็นค่าดัชนีฯที่สูงสุดในรอบ 47 เดือนหรือก่อนเกิดโควิด-19 โดยเป็นการปรับขึ้นทั้ง คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต ยอดขายรวม ต้นทุนประกอบการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ดี นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562
ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การบริโภค และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน และอานิสงส์การเปิดประเทศของจีน
ตลอดจนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ตลอดจนการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการประเภทราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ มาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หดตัวลง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย
สำหรับในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นฯอยู่ที่ระดับ 103.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.1 ในเดือนม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ และการลงทุน รวมถึงการจัดเลือกตั้งในเดือนพ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีน จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
“ส่วนกรณีธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐปิดตัวนั้น ไม่น่าจะกระทบกับสถาบันการเงินไทย เพราะมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แต่ยังติดตามว่าจะลุกลามไปถึงยุโรปแค่ไหน สำหรับราคาพลังงงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันขณะนี้เริ่มดีขึ้น เว้นค่าไฟฟ้ายังอยู่ในระดับสูงต้องรอดูว่ารัฐจะกำหนดค่าไฟงวดหน้า ให้ต่ำกว่า 5 บาทได้แค่ไหนเนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อนำมาพยุงเศรษฐกิจก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่
2.เสนอให้ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง