ส.อ.ท.วางเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าผ่านชายแดน ยกระดับจุดผ่านแดนเป็นด่านถาวร เปิดทำ Tax Refund ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี
นายสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าชายแดน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึง ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนขายแดนและผ่านแดนปี 2567-2570 ว่า ได้วางแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนเป็น 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2570 จากปัจจุบันปี 2566 มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 1.742 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้กำหนดยุทธศาสตร์ ไว้ 4 ด้านคือ 1.การพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน ของไทยเพื่อเพิ่มูลค่าการค้า 2.ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดนและระบบขนส่ง 3.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ และ4.ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับสาระสำคัญที่ได้เสนอภาครัฐให้มีการพัฒนาการค้าชายแดน คือ 1.ยกระดับจุดผ่านแดน ให้เป็นด่านถาวรภายในปีนี้ 3-4 ได้แก่ ด่านห้วยต้นนุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และด่านซับตารี จังหวัดจันทบุรี
2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยกับสินค้าจากจีนและเวียดนามในสปป.ลาว โดยเจรจาให้รถบรรทุกสินค้าจำไทยเข้าไปส่งสินค้าในสปป.ลาว ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถและคนขับ รองรับฤดูกาลผลไม้
3.การผลักกันใช้เงินสกุลท้องถิ่นระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งเจรจารหว่างธนาคารไทยกับธนาคารของสปป.ลาวและกัมพูชา ในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมการค้าชายแดนระหว่างกัน 4.การใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะช่วยในเรื่องการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้พาสปอร์ต หากต้องการเดินทางออกจากพื้นที่ด่าน
5.เจรจาให้ศุลกากรด่านหลักๆของสปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา ยอมรับและใช้ E From D อย่างเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องใช้กระดาษเพื่อความรวดเร็วในการขนสินค้า 6.ส่งเสริมการค้าชายแดนในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้มีการทำ Tax Refund ในด่านค้าชายแดนถาวร จากเดิมที่ใช้เฉพาะที่สนามบิน จะเริ่มเฉพาะด่านหลัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายให้สินค้าเอสเอ็มอี
และ7.การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนขนส่ง โดยมีโครงการก่อสร้างถนนระยะทาง 900 เมตร เชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิดัม ของมาเลเซีย ซึ่งโครงการนี้คุยกันมา 3 รัฐบาลของมาเลเซียแล้ว
นายสุริยนต์ กล่าวว่า ภาพรวมการค้าชายแดนในปีนี้ เดิมคาดจะมีอัตราการเติบได้ได้ 2-3% โดยยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งยอมรับว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน เนื่องจากส่งผลให้เกิดต้นทุนขนส่งสินค้า ทำให้ต้องย้ายด่านในการขนส่งสินค้า โดยมูลค่าการชายแดน 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.พ.) อยู่ที่ 269,854 ล้านบาท ลดลง 0.44% แยกเป็นการค้าชายแดน 161,740 ล้านบาท และ การค้าผ่านแดน 108,114 ล้านบาท
สำหรับเมียนมา มีมูลค่าการค้าชายแดน 35,166 ล้านบาท ลดลง 12.16% สินค้าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน ส่วนสินค้านำเข้า คือ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ธัญพืช
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้ประชุมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เรื่องการสู้รบในเมียนมาร์และผลกระทบต่อการค้าและการขนส่งชายแดนโดยมีข้อเสนอสรุปดังนี้
1.เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ด่านเมียวดี อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ของเมียนมา เข้ามาขนถ่ายสินค้าในฝั่งแม่สอด ตามที่กรมขนส่งทางบกของไทยได้อนุญาตไว้แล้ว เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้ประกอบการไทย
2.ขอให้รัฐบาลทั้งสองฝ่าย (ไทย-เมียนมา) อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกที่ด่านทางเลือก ได้แก่ ด่านระนอง, จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ด่านพุน้ำร้อน และด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี
3.ขออนุญาตให้ผู้นำเข้าเมียนมาใช้ Import licenseในการนำเข้าสินค้าสำหรับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา สามารถนำใบอนุญาตดังกล่าว ไปใช้ในการนำเข้าสินค้าทางเรือเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าสถานการณ์ที่ด่านแม่สอด - เมียวดีจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
4.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ข้อมูลสถิติการค้าชายแดน-ผ่านแดน จำแนกตามด่านต่างๆ ให้กับเอกชนผ่านทางศูนย์ความเป็นเลิศข้อมูลทางการค้าและการลงทุน (http://cicbts.dft.go.th) ให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้นเพื่อช่วยให้การวางแผนธุรกิจได้ทันเหตุการณ์
นอกจากนี้ต้องการเร่งรัดเพื่อให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรียกประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ที่ประชุมไปเมื่อไปตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 และยังไม่ได้มีการประชุมอีกเลย เพื่อติดตามความคืบหน้าต่างๆ จากการประชุม เนื่องจากสถานการณ์ค้าชายแดนและผ่านแดนมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลทันต่อสถานการณ์ไปปรับแผนในการกระตุ้นการค้าชายแดนและผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป