‘วัตสัน’ กับกลยุทธ์ ‘Store Segmentation’ แต่ละสาขามีสินค้า'ไม่เหมือนกัน' พาธุรกิจโตกว่าตลาด

‘วัตสัน’ กับกลยุทธ์ ‘Store Segmentation’ แต่ละสาขามีสินค้า'ไม่เหมือนกัน' พาธุรกิจโตกว่าตลาด
‘วัตสัน’ อยู่ในค้าปลีกไทยมาร่วม 28 ปี มีสาขากว่า 700 แห่งครบทุกจังหวัดทั่วไทย และยังเติบโตอย่างแข็งแรงด้วยแผนขยายอีก 50 สาขาใหม่ในปีนี้ มาพร้อมกับคอนเซปต์ใหม่ ‘Greener Store’

พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย ผู้ทำตลาดร้านค้าปลีกพิเศษกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ ‘วัตสัน’ (Watsons) กล่าวถึงแผนดำเนินธุรกิจในปี 2567 จะมุ่งขยายการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สอดค้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อสำคัญในปัจจุบัน

โดยในปีนี้ วัตสัน ประเทศไทย เตรียมเปิดตัวอีก 50 สาขาใหม่ต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบสแตนด์ อะโลน และคอนเซปต์ใหม่ กรีนเนอร์ สโตร์ (Greener Store) ตามแนวทางที่บริษัทแม่ให้ไว้และได้ทยอยเปิดตัวร้านวัตสันคอนเซปต์ดังกล่าวไปในประเทศต่างๆก่อนหน้านี้

“วัตสัน ปรับโฉมร้านสาขาสยามสแควร์ซอย2 ในรูปแบบ กรีนเนอร์ สโตร์ เป็นแห่งแรกในไทย ส่วนหนึ่งเพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของวัตสันสู่การสร้างวัฒนธรรมส่งเสริมความยั่งยืนในการทำงาน และปฏิบัติการต่างๆในทุกวัน ทั้งการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดใช้พลังงาน และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในร้านสาขา เพื่อให้สอดคล้องกับการทำตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามในชีวิตประจำวันของผู้คน” พสิษฐ์ กล่าว

สำหรับแผนขยายสาขากรีนเนอร์ สโตร์ วัตสัน จะขึ้นอยู่กับทำเลที่เหมาะสมในการเปิดให้บริการในรูปแบบสแตนด์อะโลน เป็นหลัก ด้วยส่วนใหญ่สาขาร้านร้านวัตสันจะเปิดพื้นที่ให้บริการในศูนย์การค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ไฮเปอร์ มาร์เก็ต หรือ คอมมูนิตี้ มอลล์ คิดเป็นสัดส่วนราว 95%

“ปี2567 วัตสัน มีแผนเปิดสาขาใหม่ในช้อปปิ้ง มอลล์ราว 5-6 แห่ง อย่างในทำเลจังหวัดกระบี่  1 แห่ง ไฮเปอร์ มาร์เก็ต อีกราว 2 แห่ง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างศึกษาทำเลที่เหมาะสม โดยจำนวนสาขาที่เปิดใหม่เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับในปี 2566 ที่เปิดสาขาใหม่ราว 55 แห่ง” พสิษฐ์ กล่าว

พร้อมเสริมว่า ‘วัตสัน’ ยังให้ความสำคัญในการใช้กลยุทธ์ ‘Store Segmentation’ โดยนำสินค้าความงามและสุขภาพมาจัดหมวดให้เหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อจำหน่ายในแต่ละสาขาที่แตกต่างกันออกไปในทำเลนั้นๆ อาทิ ในหัวเมืองท่องเที่ยว จังหวัดต่างๆ กลุ่มลูกค้าจะพบกับสินค้าที่ตรงกับความต้องการใช้ในชีวิตประจำวันระหว่างการเดินทางพักผ่อน ให้ได้มากที่สุด ส่วนในสาขาอื่นๆ จะเลือกกลุ่มสินค้าที่ตรงกับแต่ละทำเลให้บริการเช่นกัน 

“สโตร์ เซ็กเมนต์เตชั่น ในแต่ละทำเลสาขา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้วัตสัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา” พสิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ วัตสัน ยังให้ความสำคัญการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ การช้เปปิ้งออฟไลน์และออนไลน์ (O+O) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของลูกค้า และต่อยอดให้กับสินค้าภายใต้แบรนด์วัตสัน (Own Brand Watsons) ล่าสุด ได้เปิดตัว ‘เดย์ไวต้า’ (Day-Vita) สินค้าเสริมอาหารภายใต้แบรนด์วัตสัน จากการใช้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่มีมายาวนาน เพื่อทำตลาดในกลุ่มเป้าหมายของวัตสัน ให้เข้าถึงสินค้าคุณภาพในราคาเหมาะสม

“ปัจจุบัน วัตสัน มีสินค้าตัวเองได้พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์มากกว่า 1,400 เอสเคยู จากสินค้าจำหน่ายในร้านทั้งหมดมากกว่า 5,000 เอสเคยู ซึ่งการทำสินค้าแบรนด์วัตสันเองอย่าง ผลิตภัณฑ์กันแดดวัตสันในปัจจุบันยังลดการใช้วัสดุพลาสติกได้ถึง 20% และมีการนำกลับมารีไซเคิลได้ 17%  พร้อมยกเลิกการใช้พลาสติกสีดำ 100% ด้วยเป็นวัสดุที่ไม่สามารภนำกลับมาใช้หรือทำซ้ำได้อีก” พสิษฐ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน วัตสัน ยังพร้อมให้การสนับสนุนแบรนด์สินค้าโลคัล หรือภายในประเทศที่มีศักยภาพเพื่อเข้ามาจำหน่ายภายในร้านสาขาวัตสันด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าความงามรายเล็กของไทยให้เติบโตในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ไปด้วยพร้อมกัน

"อย่างในตอนนี้สินค้าโลคัลแบรนด์ไทย ซึ่งเป็นรู้จักในฐานะติ๊กตอกเกอร์รายหนึ่ง และมีเอสเคยูสินค้าพอสมควร ซึ่งวัตสันเองเห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่พร้อมให้การสนับสนุน" พสิษฐ์ กล่าวเสริม

พร้อมทิ้งท้ายว่า จากกลยุทธ์ ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้วัตสัน มีอัตราการเติบโตรายได้ถึง สองหลัก (Double Digit) มากกว่าการเติบโตค้าปลีกไทยในภาพรวมที่เติบโตหลักเดียว (Single Digit) โดยภายใน 5-10 ปีนับจากนี้ ‘วัตสัน’ จะยังมีแผนทำตลาดพร้อมเปิดสาขาใหม่รองรับความต้องการผู้บริโภคชาวไทย อย่างต่อเนื่อง  

TAGS: #วัตสัน #Watsons #ค้าปลีก #สินค้าความงาม #สินค้าสุขภาพ