งบประมาณมัดใจเลือกตั้ง ภาระภาษีประชาชน

งบประมาณมัดใจเลือกตั้ง ภาระภาษีประชาชน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การผ่านกรอบงบประมาณ 67 วงเงิน กว่า 3.3 ล้านล้านบาท เงินจำนวนไม่น้อยถูกใช้ไปโดยผลพลอยได้ทางการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ทิ้งทวนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ก่อนที่จะประกาศยุบสภาเป็นรัฐบาลรักษาการ โดยการเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท

แม้ว่า งบประมาณดังกล่าว ยังใช้ไม่ได้ต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ แต่รัฐบาลนี้ก็ทำการผ่านร่างงบประมาณนี้ไปก่อน เพราะถือว่าเป็นการตามทำงบประมาณตามปฏิทินงบประมาณที่ตั้งไว้

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้าน แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,490,860 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 717,199 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี เพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250 ล้านบาท 

ที่สำคัญงบประมาณ 2567 ยังเป็นงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันกว่า 10 ปี ในปีงบ 2567 รัฐบาลยังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงถึง 593,000 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลตั้งรายจ่ายชำระหนี้ภาครัฐไว้ถึง 336,807 ล้านบาท คิดเป็น 10.05% ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อใช้หนี้ที่สะสมหลายสิบปีและครบกำหนดต้องชำระคืน นอกจากนี้ยังมีเงินงบที่ต้องชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินคงคลังที่รัฐบาลไปล้วงมาใช้ก่อนในปีงบประมาณก่อนหน้านั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1.งบกลาง 601,745 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้ได้ตามความจำเป็น

2.กระทรวงมหาดไทย 351,985 ล้านบาท ถือเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่งบประมาณยังสูงไม่เคยลด

3.กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท แม้ว่ากระทรวงกระเป๋าตังของประเทศจะมีงบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นที่รู้กันว่าทั้งหมดนำไปชำหนี้ทั้งจ่ายต้นและดอกเบี้ยของประเทศที่มีจำนวนมาก

4.กระทรวงศึกษาธิการ 330,512 ล้านบาท กระทรวงที่ต้องมีงบประมาณสูงเพื่อการพัฒนาคนที่เป็นอนาคตของประเทศ

5.กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท ถือเป็นกระทรวงที่ถูกจับจ้องจากสังคมมากอันดับต้นๆ ที่ในภาวะวิกฤตการเงินของประเทศ ต้องกู้ปีเพื่อโปะงบประมาณรายจ่ายปีละหลายแสนล้านบาท แต่งบทหารยังมีสูงแตะ 2 แสนล้านบาท

ยิ่งไปดูงบประมาณ จำแนกตามยุทธศาสตร์ชาติ งบด้านความมั่นคงมีจำนวน 391,495.8 ล้านบาท หรือ 11.69% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด สูงกว่างบแข่งขันที่มีจำนวน 374,547 ล้านบาท หรือ 11.18% ของประมาณทั้งหมด

นอกจากนี้ ในงบประมาณปี 2567 รัฐบาลยังผูกงบไว้ เพื่อจ่ายให้ อสม./อสส. 25,967 ล้านบาท เพื่อให้ค่าป่วยการ อสม./อสส. เหมาะสมกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

งบให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 27,555 ล้านบาท เพื่อให้อัตราเงินค่าตอบแทน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและค่าครองชีพ

ซึ่งงบดังกล่าว ถูกเขียนไว้ชัดเหมือนเป็นการมัดใจ อสม./อสส. กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ให้เทรัฐบาลกลับมาบริหารประเทศ ทำงบประมาณ 2567 ได้ต่อเนื่องให้เป็นไปตามกรอบที่ได้ตั้งไว้ เพราะหากรัฐบาลใหม่มาทำต่ออาจโดนรื้อโดนตัดทิ้งก็ได้

การจัดสรรงบประมาณของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่ได้ข้อยุติ ว่า ต้องการใหเรัฐบาลทำงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประเทศ ไม่ได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มอำนาจกลุ่มทุน และเพื่อการมัดใจฐานเสียงเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง

เพราะเงินที่รัฐบาลใช้ไปนั้นเป็นเงินภาษีของประชาชน และอีกส่วนหนึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นเงินกู้ที่ในประชาชนก็ต้องมารับภาระใช้หนี้ให้กัประเทศต่อไป

ดังนั้นหากรัฐบาลใช้เงินงบประมาณทุกบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ก็ย่อมได้รับคำชื่นชม

ในทางตรงข้ามหากรัฐบาลใช้เงินงบประมาณรั่วไหล ทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย รัฐบาลย่อมได้ก้อนหินปาใส่เป็นรางวัลแบบหนีไม่พ้น 
 

TAGS: #งบประมาณ #ภาษี #เลือกตั้ง