‘พาณิชย์’ชี้ส่งออกปีนี้ยังโตได้ 1-2% เชื่อเดือนพ.ค.ยังเป็นบวกพร้อมเกาะติดปัจจัยเสี่ยงตะวันออกกลางค่าระวางเรือพุ่ง 37% กระทบต้นทุนขนส่งผู้ประกอบการ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (834,018 ล้านบาท)
ขยายตัวร้อยละ 6.8 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 11.4
การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ
ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษต ขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน
ส่วนสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 3.8 กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 91.5 ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 36.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 14.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน
ด้านอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 52.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลี ไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.2 เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 10.5 กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า ฃในตลาดกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 29.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 9.6 น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 9.1 ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 4.7 โดย 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 (YoY) กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 23.3
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 5.7 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 9.2 อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 15.9 โดย 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.8
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังสามารถเติบโตได้ดี โดยยังคงเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 1-2% จากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ
ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหา ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการประสบกับปัญหาต้นทุนค่าระวางเรือที่สูงขึ้น 37% โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการส่งออก
“แนวโน้มเดือนหน้าส่งออกก็น่าจะเป็นบวก โดยเฉพาะเป็นฤดูผลไม้ออกเป็นจำนวนมาก น่าจะทำให้ตลาดจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดไตรมาสส่งอกยังขยายตัวได้ 0.8-1 % ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นเพิ่มเติม โดยยังคงเป้าส่งออกปีนี้ไว้ที่ 1-2%”