พาณิชย์ เผย 2 เดือนแรกปี 66 ต่างชาติลงทุนในไทย 26,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 305 % จีนเบียดขึ้นแท่นลงทุนอันดับหนึ่ง 10,987 ล้านบาท ตามด้วย ญี่ปุ่น 8,545 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,090 ล้านบาท
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า 2 เดือนแรก (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 113 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 76 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 26,756 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,651 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 25 ราย (ร้อยละ 22) เงินลงทุน 8,545 ล้านบาท สิงคโปร์ 19 ราย (ร้อยละ 17) เงินลงทุน 3,090 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 13 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 1,314 ล้านบาท จีน 10 ราย (ร้อยละ 9) เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และ สมาพันธรัฐสวิส 6 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 966 ล้านบาท รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจาะลอด (Horizontal Directional Drilling) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความผิดพลาดในกระบวนการผลิตสินค้าประเภทนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 (เดือน ม.ค. - ก.พ.66 อนุญาต 113 ราย / เดือน ม.ค. - ก.พ.65 อนุญาต 62 ราย) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 20,154 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 305 (เดือน ม.ค. - ก.พ.66 ลงทุน 26,756 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - ก.พ.65 ลงทุน 6,602 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 412 ราย คิดเป็นร้อยละ 33 (เดือน ม.ค.-ก.พ.66 จ้างงาน 1,651 คน / เดือน ม.ค.-ก.พ.65 จ้างงาน 1,239 คน) โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ
บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า,บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย,บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก,บริการพัฒนา EMBEDDED SOFTWARE ซึ่งเป็นการพัฒนาและติดตั้งซอฟต์แวร์ฝังตัวสำหรับเครื่อง INTERLOCKและบริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,078 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย ลงทุน 1,352 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 6 ราย ลงทุน 160 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ 2) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก และ 3) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 61 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 15 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 46 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 21,627 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,353 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจาะลอด (Horizontal Directional Drilling) องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบงานศูนย์เครือข่ายโรมมิ่ง (Roaming Hub) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความผิดพลาดในกระบวนการผลิตสินค้าประเภทนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ,บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ วางแผน และให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม เป็นต้น,บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นการบริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและการทำกิจการโรงแรม ตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน