ฮอท พอต (HOT POT) ร้านอาหารแนวหม้อไฟรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาอยู่ในตลาดไทย ตั้งแต่ปี 2547 นับนิ้วมาถึงปีนี้จะมีอายุ 20 ปีพอดี กับกระแสการทยอยปิดสาขาร้าน ถึงในตอนนี้เปิดบริการเพียง 3 สาขาในไทย
ร้าน ‘ฮอท พอท’ ปัจจุบันดำเนินงานบริหารธุรกิจภายใต้บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลีตี้ จำกัด (มหาชน) จากเดิมในชื่อบริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2547 ทำธุรกิจหลักร้านอาหารแนวสุกี้ชาบูตามสั่ง หรือแบบ A La Carte สาขาแรกในนามร้าน ‘โคคาเฟรช สุกี้’ ที่ห้างตะวันออกคอมเพล็กซ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จับกลุ่มเป้าหมายครอบครัว เป็นหลัก
จากจุดเริ่มต้นธุรกิจฮอทพอท ที่มาพร้อมกับความสดใหม่ของแบรนด์เพื่อเป็นทางเลือกในตลาดร้านอาหารแนวสุกี้ ที่มีแบรนด์ขาใหญ่คุมตลาดในช่วงนั้น ทำให้ร้านฮอทพอท ได้รับความนิยมมากขึ้น
พร้อมกับใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ด้วยการขยายสาขาในห้างตามจังหวัดต่างๆ เช่น สระบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และพิษณุโลก เป็นต้น ในรุปแบบจัดตั้งบริษัทต่างๆ เพื่อควบคุมร้านสาขาในแต่ละภูมิภาค
โดย ฮอทพอท เคยเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูงถึง 1,900 ล้านบาท มีกำไร 23 ล้านบาท ในปี 2555 จนนำธุรกิจเข้าสู่การระดมทุนในตลาด mai และเคยมีจำนวนสาขากระจายทั่วไทย มากสุดถึง 117 สาขา
แต่ในวันนี้อด้วยสภาพตลาดร้านอาหารที่แข่งขันสูงจากแบรนด์ต่างๆ ที่ตบเท้าเข้ามามากหน้าหลายตา โดยเฉพาะกระแส ‘ชาบู’ ที่เข้ามาชิงตลาดร้านอาหารหม้อไฟมูลค่ากว่า2 หมื่นล้านบาท
ทำให้อดีตแบรนด์ตัวตึงในร้านอาหารแนวหม้อไฟ อย่าง ฮอทพอท อยู่ในภาวะการขาดทุนสะสม ต่อเนื่อง พร้อมทยอยปิดสาขาและเหลือ 3 แห่งในต่างจังหวัด ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน คือ
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อุดรธานี
- ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อุบลราชธานี
- ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โคราช
จากก่อนหน้าฮอทพอท มี 1 สาขาในกรุงเทพฯ แห่งสุดท้ายในทำเลศูนย์การค้าซีคอน บางแค และได้ปิดให้บริการสาขานี้ ไปล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิ.ย.2567 ที่ผ่านมา
ขณะที่ผลประกอบการในภาพใหญ่ของ เจซีเค ฮอทพิทอลลิตี้ (JCKH) หากย้อนหลัง 5 ปีจะพบว่าขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ดังนี้
- ปี 2562 รายได้รวม 1,397 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 158 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้รวม 701 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 142 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้รวม 443 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 340 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้รวม 543 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 227 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้รวม 397 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 108 ล้านบาท
เส้นทางธุรกิจฮอทพอท สู่มือ JCKH
ทั้งนี้ จากผลดำเนินการของฮอทพอทที่เคยอยู่ในระดับอู้ฟู่ จนสามารถเข้าซื้อร้านอาหารแนวปิ้งย่างแบรนด์ ‘ไดโดมอน’ (Daidomon) เพื่อเข้ามาเติมพอร์ตธุรกิจร้านอาหารได้ในปี 2556 ทำให้ฮอทพอทเป็นธุรกิจร้านอาหารที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นถึง 2 บริษัทฯ คือ บมจ.ฮฮอทพอท และ บมจ. ไดโดมอน
อย่างไรก็ตาม หากย้อนเส้นทางธุรกิจฮอทพอท กลับไปราวๆ 9 ปีก่อน จะเริ่มเห็นภาพธุรกิจชะลอการเติบโต ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมในตลาดร้านอาหารที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาด ส่งผลให้ฮอทพอท เริ่มประสบผลขาดทุน และ เริ่มปิดสาขาจำนวน 12 แห่ง และเหลือ 143 สาขา เมื่อสิ้นปี 2558
ขณะที่ ฮอทพอท เองก็มีความพยายามปรับตัวพร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ อาทิ
- การขยายสาขาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว (ปัจจุบันปิดการขายแล้ว)
- การขายน้ำจิ้ม กระจายไปยัง 600 สาขาในโลตัส (เลิกธุรกิจนี้ไปแล้ว)
กระทั่งใน ปี 2559 ฮอทพอท ได้เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมี ‘อภิชัย เตชะอุบล’ เป็นผู้เข้ามาถือหุ้น จำนวน 65,900,000 หุ้น (ร้อยละ 16.23 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด) และบริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ชื่อเดิม บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) จำนวน 9,100,000 หุ้น (ร้อยละ 2.24 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด)
พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก บมจ. ฮอทพอท สู่ บมจ. เจซีเค ฮอทพิทอลลิตี้ (JCKH) สะท้อนการขยายธุรกิจที่เป็นมากกว่าแบรนด์ร้านอาหารบุฟเฟต์ ปัจจุบัน เจซีเคฯ ประกอบธุรกิจร้านอาหารด้วยแนวคิดหลากหลายรูปแบบ รวม 5 แบรนด์ ดังนี้
- HOTPOT Buffet ร้านอาหารสุกี้ชาบู บุฟเฟ่ต์
- Daidomon Korea Grill บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างสไตล์เกาหลี
- Zheng Dou Grand ภัตตาคารอาหารจีน ซีฟู้ดส์ และติ่มซำ ระดับพรีเมี่ยม
- Shabu Tomo ชาบูพรีเมี่ยมสไตล์ญี่ปุ่น
- Burger & Lobster ร้านอาหารสัญชาติอังกฤษ
โดยเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา JCKH ได้ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่30 พ.ค. 2567 มีมติให้ บริษัทขายทรัพย์สินและโอนสิทธิการเช่า ร้าน Zheng Dou Grand และ Shabu Tomo สาขาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ให้แก่ บริษัท อตาลันต้า ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน อีกด้วย
ซึ่งก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า หากแยกธุรกิจแบรนด์ร้านอาหารในสาขาที่ยังมียอดขายไปได้ดี ของ JCKH ก็อาจจะสร้างตัวเลขที่สวยดูดีให้กับบริษัทฯ ที่ยังอยู่ในตลาดได้ต่อไป ที่แม้ว่าตลอดช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมานี้ ตลาดธุรกิจร้านอาหารจะยังแรงไม่แผ่วก็ตาม
ขณะที่ในตอนนี้ JCKH ยังมีแบรนด์ ชาบู โทโมะ อยู่ในตลาดชาบูพรีเมี่ยม สไตล์ญี่ปุ่น ที่มีคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกันจำนวนไม่มากนัก ที่อาจเป็นความหวังทางธุรกิจร้านอาหารให้กับ JCKH ไปได้ต่อในวงการหม้อไฟ
อ้างอิง
https://www.facebook.com/share/p/DTVAKMvhWMaTENZ8/?mibextid=WC7FNe
https://weblink.set.or.th/dat/news/202405/1100NWS300520241800120166T.pdf