ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนพ.ค.ต่ำสุดรอบ 7 เดือน ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ชี้การเมืองไม่นิ่งห่วงเศรษฐกิจฟื้นยาก ขณะที่ราคาพลังงานยังสูง ลุ้นรัฐเร่งใช้งบกระตุ้นสภาพคล่องในระบบ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2567ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.3 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือน ทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 56.0 58.9 และ 71.5 ตามลำดับ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 62.1 เป็น 60.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก
ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 45.3 เป็น 44.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 70.2 มาอยู่ที่ระดับ 68.4 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย งบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
“ดัชนีความเชื่อมั่นเริ่มเข้าสู่วัฎจักรขาลง ติดต่อกัน 3 เดือน และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ซึ่งรวม 2 ไตรมาส เป็นสัญญาณให้เห็นว่าควมเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการ ลดลง จากปัจจัยเสถียรภาพการเมือง ตกลงค่อนข้างแรง ทั้งกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความกังวลสถานการณ์ราคาพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป"
อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบการ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไท 2.การดูแลค่าแรงของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานในภาคธุรกิจขนานเล็ก 3.มาตรการกำกับจัดสรรแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร-อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
4.แนวทางการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนชาวต่างชาติเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น 5.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักขึ้น 6.การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามแม้ยังมีความกังวลในหลายเรื่องต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่หากภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี '67 ให้เต็มที่่ใน 4 เดือนที่เหลือ รวมถึงในงบปี' 68 ที่จะเริ่ม 1 ต.ค.67 ได้อย่างเต็มที่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 2.6% ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตหากเริ่มดำเนินการได้จริงจะมีเม็ดเงินเข้าระบบ 5 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ปีจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 3-3.2 %