เอกชนขานรับเลือกตั้งคึกคักเงินสะพัด 1.2 แสนล้าน

เอกชนขานรับเลือกตั้งคึกคักเงินสะพัด 1.2 แสนล้าน
ภาคธุรกิจประเมินเงินหมุนเศรษฐกิจช่วง 90 วันทั่วไทย 1-1.2 แสนล้านบาท ห่วงหลังเลือกตั้งนโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยน ชี้นักลงทุนชะลอลงทุนรอรัฐบาลใหม่   

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นต่อผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทยว่า สถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งจะทำให้เกิดกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงที่เข้มข้นขึ้นกว่าทุกครั้ง ประเมินว่าจะมีเงินสะพัด1-1.2 แสนล้านบาท  และเกิดขึ้นเร็วในช่วง 1 เดือนครึ่งทุกเขตเลือกตั้ง

“ในพื้นที่ที่มีส.ส.แต่ละเขตมากขึ้น เงินก็จะหมุนเวียนมาก โดยจะมาจากการว่าจ้างทำป้ายหาเสียง  ธุรกิจเวทีเครื่องเสียง  รถหาเสียง ตลอดจนออกาไนซ์เซอร์ที่จัดอีเว้นต่างๆ ที่จะทำให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศเติบโตได้ 0.5-0.7%  และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้"

ทั้งนี้สิ่งที่เอกชนยังมีความกังวลหลังเลือกตั้ง คือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่  ตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ จะได้รับการยอมรับหรือทำให้เกิดความขัดแย้ง  ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้หลายมิติ ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 2-3 นักลงทุนจะชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพื่อรอดูทิศทางนโยบายที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองใช้นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นจุดเสี่ยงของผู้ประกอบการได้ในระยะยาว

รศ.ดร.ธนวรรธน์  กล่าวว่า ภาคธุรกิจยังมีความเป็นห่วงในเรื่องต้นทุนการประกอบการกิจการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าแพง   เงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยสูง  ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน หากของแพงคนก็ไม่ซื้อ ยอดขายลดและ กำไรแย่ลง

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยจะมีท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ภาคการส่งออกไม่ได้กระเตื้องขึ้น อย่างที่คาดการณ์ไว้  โดยยังประมาณการเศรษฐกิจ 3.3-3.8 %

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ คือการดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ณ ปัจจุบัน เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และในประเทศให้เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน

ขณะที่ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว และดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ได้อย่างดีและมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้

 

TAGS: #เลือกตั้ง #หอการค้าไทย #กระตัุนเศรษฐกิจ #เงินสะพัด