‘พาณิชย์’ เตรียมนำทีมไทยร่วมเจรจาจัดทำ FTA กับอียู รอบ 3 ที่บรัสเซลส์ เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน กระตุ้นส่งออกสินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า สัตว์น้ำ รถยนต์ ถุงมือยาง
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำทีมผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายนนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อย 20 กลุ่ม ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า
4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7. การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9. ทรัพย์สินทางปัญญา 10. การแข่งขันและการอุดหนุน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14. รัฐวิสาหกิจ 15. พลังงานและวัตถุดิบ
16. ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17. ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18. การระงับข้อพิพาท 19. บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน ข้อยกเว้น และ 20. พิธีสารการให้ความช่วยเหลือทางการบริหารจัดการด้านศุลกากรระหว่างกัน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนี้ การเจรจา FTA ไทย-EU ถือเป็นการสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มและสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยตลาด EU มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ ซึ่งคาดว่าเมื่อ FTA มีผลบังคับใช้ ไทยจะได้ประโยชน์ในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ ข้าว สับปะรดกระป๋องและผลิตภัณฑ์ กลุ่มสัตว์น้ำและสัตว์น้ำแปรรูป กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าอื่นๆ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางนอกรถยนต์ ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา และอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งจาก EU และประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตามการเจรจารอบที่ 2 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ประเทศไทย การเจรจาในภาพรวมเป็นไปด้วยดี ทั้งสองฝ่ายได้หารือในรายละเอียดของแต่ละประเด็น แลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติม และสร้างความเข้าใจระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าในการเจรจารอบที่ 3 จะมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจแก่ทั้งสองฝ่าย
สำหรับในปี 2566 EU เป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยการค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 21,838.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.21 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 19,743.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.50
ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2567) การค้าระหว่างไทย-EU มีมูลค่า 14,388.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.98 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 7,878.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 6,509.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.46