สภาอุตฯ รวมหัวกะทิรัฐ-เอกชน ทำ ‘สมุดปกขาว’ สู่ ‘พิมพ์เขียว’ รับมือความท้าทาย กรีนดิจิทัล-AI-สังคมสูงวัย

สภาอุตฯ รวมหัวกะทิรัฐ-เอกชน ทำ ‘สมุดปกขาว’ สู่ ‘พิมพ์เขียว’ รับมือความท้าทาย กรีนดิจิทัล-AI-สังคมสูงวัย
ย้อนไป 5-6 ปีที่ผ่านมา‘ไทย’ให้ความตื่นตัวการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 จากการใช้เทคโนโลยีมามีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ แต่ในวันนี้มีเอกชนราว 1% เท่านั้นที่ผ่านจุดนี้และไปต่อได้

จึงมีคำถามว่า แล้วส่วนที่เหลืออีก 99% ของภาคธุรกิจไทย มันเกิดอะไรขึ้น? ด้วยมีผลตามมาอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ต่อ ‘อุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทย’ ว่าจะต้องไปต่อในทิศทางใดนับจากนี้ไป

 

และเป็นที่มาของงาน HORIZON 2030:COLLABORATING FOR A DIGITAL TOMORROW โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries – FTI) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้

 

 

ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ประเสิรฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) กล่าวในการเปิดงานฯ ว่า กระทรวงฯ วางนโยบาย Cloud First Policy ผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก เพื่อมุ่งสู่การเป็น Cloud Hub ของภูมิภาคมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประเทศ ที่ทันสมัย มั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล อีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่เข้ามามีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายการทำธุรกิจในภาคเอกชน ที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

“การขับเคลื่อนอุตสากรรมฯดิจิทัลของไทย ยังต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และฝ่ายนิติบัญญัติ ร่วมยกระดับภารกิจดิจิทัลของประเทศไทย ให้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจในอนาคตให้เป็นดิจิทัล อีโค ซิสเต็ม ที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันทุกด้าน”  ประเสิรฐ  กล่าว    

 

 

10 คลัสเตอร์ โต๊ะกลม ดิจิทัล

 

ด้าน ปรนนท์ ฐิตะวรรโณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่างานฯดังกล่าว ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชนธุรกิจจาก 100 องค์กรส่งตัวแทนเข้าร่วมเวิร์ค ช้อป ในรูปแบบ ‘Round table discussion’ ใน 10 หัวข้อ ที่น่าสนใจดังนี้

  1. E-government and Cybersecurity
  2. Smart Manufacturing
  3. Blockchain and Digital Asset
  4. E-commerce and Logistics   
  5. Digital content and Game
  6. Tourist and Event
  7. Manpower and Ed-tech
  8. Agriculture-tech
  9. Healthcare and  Wellness
  10. AI

ทั้งนี้ จากหัวข้อทั้งหมดจะถูกนำมาตกผลึกผ่านความคิดเห็นที่ได้จากตัวแทนผู้เข้าร่วมงานฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสะท้อนข้อมูลจริง ทั้งปัญหา อุปสรรค ตลอดจนโซลูชั่นส์แนวทางการแก้ไข เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่จะต้องไปต่อให้เป็นรูปธรรมนับจากนี้

 

“ในช่วงหลายปีก่อนหน้า จะเห็นว่ามีการพูดถึง ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายรัฐ แต่ในวันนี้มีเพียงภาคเอชนรายใหญ่ราว 1% ของทั้งหมดเท่านั้นที่พร้อมในเรื่องนี้” ปรนนท์ กล่าว

ปรนนท์ ฐิตะวรรโณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศแบะการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม

 

เปลี่ยนสู่ คนขายของ

 

พร้อมเสริมว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ไปต่อได้ในสัดส่วน 1% แต่ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจเอกชนขนาดกลางย่อม ได้นั้น มาจาก 2 ปัจจัยคลาสสิค คือ

  1. การลงทุน (Investment)
  2. ทุนบุคลากร (Human Capital)     

ด้วย ปัจจัยทั้ง ‘สองด้าน’ ต้องเดินควบคู่ไปด้วยกัน ทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ อย่าง IoT (ไอโอที) การใช้ คลาวด์ (Cloud) ในองค์กร ฯลฯ ที่จะต้องใช้ทั้งเงินและคน โดยเฉพาะอย่างหลังการพัฒนา บุคลากรไอทีของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนจากตำแหน่งการเป็น ‘ตลาดผู้บริโภค’ ไปสู่ ‘ตลาดผู้ขาย’ สินค้า บริการ ด้านไอทีต่างๆ และที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ‘ด้านการสื่อสาร’ การใช้ภาษาสากลในการพัฒนาสินค้า บริการ ที่จะต้องนำออกไป ‘ขายให้ได้’ ในต่างประเทศ

 

“หนึ่งในปัญหาใหญ่ในสินค้า บริการ ด้านไอที ของไทยในตอนนี้ คือ ขาดความสามารถในการขายไปยังตลาดต่างประเทศ ด้วยติดในด้านการสื่อสารซึ่งเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนจะต้องแก้ไขเพื่อเปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภคสินค้าไปสู่การเป็นผู้ขายให้มากขึ้น” ปรนนท์ กล่าวว่า

 

โดย ปัจจัยดังกล่าวยังเพื่อตั้งรับต่อตำแหน่งการให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางข้อมูล (Data Center Hub) ระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย ที่จะต้องเตรียมพร้อมจากการใช้ทรัพยากรหลากหลาย ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และ บุคลากรของไทย ในอนาคตด้วย

 

สู่อนาคต ‘Green Digital’

 

ปรนนท์ กล่าวว่าจากแนวทางดังกล่าว ยังมีอีกเรื่องที่จะตามมา คือ การผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ให้ไปสู่ ‘Green Digital’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามข้อตกลงในการประชุมระดับโลกว่าด้วยการจัดการกับปัญหาโลกรวน ครั้งที่ 28 (COP28) เมื่อปลายปี 2566ที่ผ่านมา  

 

พร้อมข้อสรุปทั่วโลก ในการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก จากการเปลี่ยนผ่านใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานทดแทนเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะการอุตสาหกรรมดิจิทัล หากไทยจะเป็นศูนย์กลางดาตาเซ็นเตอร์ ที่จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับมหาศาล และยังเป็นความท้าทายแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูง ออกมาในอนาคตด้วย

 

“กรีน ดิจืทัล ยังเป็นแนวคิดระดับโลก ซึ่งในปี 2025 คณะกรรมการมาตรฐานไอเอสโอโลก ด้านกรีน ดิจิทัล จะประชุมที่กรุงเทพฯ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อร่วมกำหนดแนวทางนโยบาย มาตรฐานร่วมกัน จากในปีนี้ได้จัดขึ้นที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน” ปรนนท์ กล่าว  

 

‘5G’ ยูทิไลซ์สูงสุดในอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้ การระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในงานฯ นี้ ยังจะโฟกัสการนำเทคโนโลยี 5G บนเครือข่ายสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม ให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ (Utilized) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งบริการทางการแพทย์ เกษตร ท่องเที่ยว ฯลฯ จากความรวดเร็วและความเสถียรในการส่งข้อมูล (Data) ระหว่างเครือข่ายในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำมาขมวดให้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม5จี ที่จะมีส่วนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ด้วยเช่นกัน

 

แรงงานรุ่นใหม่หาย ‘AI’ คือ คำตอบ

 

ปรนนท์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ไทย จะต้องเร่งให้ความสำคัญอย่างมากนับจากนี้ คือ การติดตาม วิเคราะห์ เพื่อนำมาปรับใช้ จากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยอันที่จริง หากไทยสามารถวางแผนรับมือได้เป็นอย่างดีแล้ว การเข้ามาของเอไอ ยังจะสอดรับกันในทั้งเรื่อง แรงงานคนรุ่นใหม่ในระบบของไทยที่ลดจำนวนน้อยลง

 

ทั้งนี้ สอดคล้องกับอัตราการเกิดของประชากรไทยในปัจจุบันที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง (อัตราเด็กเกิดใหม่ในไทยปัจจุบันเหลือเพียง 4 แสนคนต่อปีจากเดิมเฉลี่ยปีละ1 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันกับที่ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super Aging Society) คนไทยมีอายุ 60ปี เพิ่มขึ้น 26% ใน10ปีหน้า ด้วย  (กองบก.The Better)

 

โดยหลังสิ้นสุดการเวิร์คช้อปในงานฯ ครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ เตรียมรวบรวมข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด จัดทำเป็นสมุดปกขาว (White Paper) เพื่อนำเสนอต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คาดอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้านี้

 

และอาจนำไปเป็นต้นแบบสู่แผนงานฉบับพิมพ์เขียว (Blue Print)  ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นลำดับต่อไปในอนาคต  

 

 

TAGS: #กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม #MDES #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #เศรษฐกิจดิจิทัล #อุตสาหกรรมดิจิทัล #เอไอ #สังคมสูงวัย #GreenDigital