คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ทั้งปี

คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ทั้งปี
วิจัยกรุงศรี คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ ชี้เป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 12 มิถุนายน มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%  โดยประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่องจาก (i) แรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสแรก (ii) การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และ (iii) การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐตั้งแต่ไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะยังเติบโตต่ำเนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิม ด้านกรรมการ 1 ท่าน (จาก 2 ท่าน ในการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา) เห็นควรให้ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง 

จากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและท่าทีของธปท.ล่าสุด วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะถูกคงไว้ที่ระดับ 2.50% ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยหนุนจาก (i) การเติบโตของ GDP มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 และธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาส 4 ปีนี้ (ii) ความกังวลของธปท.เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (iii) แม้เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่ธปท.ยืนยันมุมมองว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง (Neutral rate) และยังระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ระดับศักยภาพ และ (iv) ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์และ SFIs ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง สอดคล้องกับมุมมองของธปท.ที่สนับสนุนการออกมาตรการที่เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (targeted policy)  เช่น เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับ SMEs และช่วยเหลือการลดหนี้ของครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวงกว้างหรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความจำเป็นลดลง

การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ 60.5 จาก 62.1 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับ (i) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. ต่อคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี  (ii) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตต่ำและฟื้นตัวช้า (iii) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้น และ (iv) ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้ออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอลงสะท้อนว่าแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตสูงในไตรมาสแรก (+6.9% YoY) มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี โดยการใช้จ่ายคาดว่าจะมีปัจจัยหนุนจาก (i) การเติบโตของภาคท่องเที่ยว ล่าสุดทางการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเน้นท่องเที่ยวเมืองรอง (ii) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพด้านพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนรายได้น้อย (iii) การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และ (iv) การสิ้นสุดภาวะเอลนีโญในช่วงกลางปีอาจช่วยหนุนรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างจากภาระหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะยังเป็นข้อจำกัดของการเติบโตของการบริโภคในระยะต่อไป

TAGS: #วิจัยกรุงศรี