ส.อ.ท.ห่วงอุตสาหกรรมไทยจี้รัฐปรับโครงสร้างภาคการผลิตหลัง 5 เดือน ปิดโรงงานแล้ว 561 แห่ง เหตุรับต้นทุนพุ่งไม่ไหว
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ติดตามสถิติยอดจดทะเบียนกิจการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2566 โรงงานปิดกิจการ 1337 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65%หรือเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง ขณะที่ปี 2565 ปิดกิจการ 997 แห่ง และ ปี 2564 ปิดกิจการแค่ 678 แห่ง
ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วงมีโรงงานปิดกิจการ 561 แห่งหรือเฉลี่ยเดือนละ 113 แห่งส่งผลให้มีคนตกงานแล้ว 1.5 หมื่นคน
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าใน 2 ปี ที่ผ่านมา จากปัญหาสงครามทางการค้า ทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรปใช้มาตรการตอบโต้กับจีน ในขณะที่กำลังการผลิตยังมีเท่าเดิมทำให้มีสินค้าราคาถูกทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนจำนวนมาก ส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศต้องลดกำลังการผลิตลงเพราะไม่สามารถแข่งขันในเรื่องต้นทุนสินค้าได้
ทั้งนี้ต้องการเสนอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจากยังเป็นอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการในรูปแบบของการรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็ม ไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ตัวเอง ดังนั้นต้องหาแนวทางในการรักษา 46 อุตสาหกรรมของไทยไว้รวมทั้งส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมใหม่ ควบคู่ไปด้วย
อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตต่ำ ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ 38%, กลุ่มเภสัชภัณฑ์ 40%, กลุ่มเหล็กแปรรูป 28, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ 35% ส่วนอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการมากสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ กลุ่มพลาสติก 12 ราย, กลุ่มโลหะ 11 ราย, กลุ่มแปรรูปไม้ 8 ราย
นายนาวา กล่าวว่า ไม่อยากเห็นการปิดกิจการของโรงงาน ซึ่งหวังว่าเมื่องบประมาณรัฐเริ่มนำออกมาใช้ จะช่วยทำให้เกิดสสภาพคล่องหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ สิ่งอยากฝากให้รัฐบาลดูแลคือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (เมดอินไทยแลนด์) ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะโครงการลงทุน PPP ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท