ส.อ.ท.จ่อหั่นเป้าผลิตรถยนต์หลังออเดอร์ในประเทศไม่ขยับ

ส.อ.ท.จ่อหั่นเป้าผลิตรถยนต์หลังออเดอร์ในประเทศไม่ขยับ
ส.อ.ท.ชี้กฏเหล็กลิสซิ่งทำยอดขายรถในประเทศสะดุดโดยเฉพาะกระบะ เหตุกังวลหนี้ครัวเรือนพุ่ง เศรษฐกิจชะลอ ขณะที่รถ EVป้ายแดงนำเข้ายังได้รับความนิยม

นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ว่า ส.อ.ท.เตรียมทบทวนปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทย เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์ยังปรับลดลงต่อเนื่อง จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ฟื้นตัวตามที่มีการคาดการณ์

สำหรับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพ.ค. 2567 มีทั้งสิ้น 126,161 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 16.19 จากจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศลดลงร้อยละ 54.66 และผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลงร้อยละ 14.35 ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 20.54

ภาพรวม 5 เดือนแรกของปีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 644,951 คัน ลดลงปีก่อน ร้อยละ 16.88  โดยแยกเป็นยอดผลิตของรถยนต์นั่งมีจำนวน 240,190 คัน เท่ากับร้อยละ 37.24 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 11.29 โดย

รถกระบะขนาด 1 ตัน เดือนพ.ค. ผลิตได้ทั้งหมด 78,319 คัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 19.05 ขณะที่ 5 เดือนแรก ผลิตได้ทั้งสิ้น 394,321 คัน เท่ากับร้อยละ 61.14 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง ร้อยละ 19.87

ด้านยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนพ.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 6.70 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 23.38 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐลดลง

ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่า10 เดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึงร้อยละ 3 หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก

“ที่ผ่านมาเฉลี่ยยอดขายรถกะบะของไทยอยู่ที่ประมาณปีละกว่า4 แสนคัน โดยช่วงต้มยำกุ้งยอดขายรถยนต์ยังอยู่ในระดับประมาณ  5.8 แสนคัน ถือว่าสถานการณ์ยังดีกว่าช่วงนี้ โดยปีที่แล้วไทยมียอดขายกระบะ 7.5 หมื่นคัน ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง ส่วนปีนี้คาดว่ายอดขายกระบะน่าจะไม่ถึง 2 แสนคัน อาจจะอยู่ที่ประมาณ  1. 1.5 แสนคัน”

ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พ.ค.อยู่ที่ 89,284 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.39  จากปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 83,754.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  ร้อยละ 12.93 ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 429,969 คัน ลดลง  ร้อยะล 2.28 โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวม 401,637.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ส่วนยอดจดทะเบียนยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV)ในเดือน พ.ค มีจำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.50 จากปีก่อนโดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 43,921 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 175,316 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 168.34 จากปีก่อน

 ด้านยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) มีจำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.64 จากปีก่อน ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 59,317 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยล่าสุด มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 402,414 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.06 จากปีก่อน

นายสุรพงษ์  กล่าวว่าหากรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ที่รวมถึงทั้ง supply chains ซึ่งต้องรอลุ้นว่างบประมาณรัฐที่อนุมัติออกมาแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนกรณีที่บริษัทรถยนต์บางแห่งมีการยกเลิกการผลิตรถยนต์ในบางรุ่นก็เป็นผลมาจากการปรับแผนการทำธุรกิจ หากฐานการผลิตประเทศไหนยอดขายไม่ดี ผลิตภัณฑ์ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็ต้องหยุดการผลิตลง และใช้วิธีนำเข้าแทน ซึ่งก็จะกระทบกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตให้กับรถยนต์บริษัทนั้นๆ อีกทั้งการเข้ามาขอรถยนต์ไฟฟ้า(EV Xก็มีส่วนทำให้หลายบริษัทต้องปรับแผนและหยุดการผลิตรถสันดาป (ICE ) บางรุ่น

 

TAGS: #ส.อ.ท. #ลิสซิ่ง #เศรษฐกิจชะลอ #EV