ส่งออกข้าวรับสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น โชว์ตัวเลขเดือนแรก 8.1 แสนตัน ชี้ผลผลิตโลกลด เร่งขยายตลาดส่งออกชดเชย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 อยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้สถานการณ์ข้าวโลกในปีนี้คาดการณ์จะมีการผลิตข้าวโลกในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 502.98 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 11.82 ล้านตันข้าวสารจากปีก่อนเนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศของผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มลดลง โดยมีการบริโภคข้าวโลกประมาณ 517.18 ล้านตันข้าวสารลดลง 2.71 ล้านตันข้าวสาร ตามการบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลง
ขณะที่การค้าข้าวโลก จะมีประมาณ 54.17 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 4%เป็นผลจากมีการลดการส่งออก ประกอบกับประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มนำเข้าลดลงด้วย สำหรับประเทศที่มีสต๊อกข้าวมากที่สุดคือ จีน 107.00 ล้านตันข้าวสาร รองลงมา คือ อินเดีย 29.00 ล้านตันข้าวสาร ฟิลิปปินส์ 4.76 ล้านตันข้าวสาร อินโดนีเซีย 2.96 ล้านตันข้าวสารและไทย2.65ล้านตันข้าวสาร
อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวโลก ณ วันที่ 1 ม.ค.-24 ก.พ.2566 อินเดีย ส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประมาณ 1.69 ล้านตันข้าวสาร รองลงมา ได้แก่ ไทย 1.39 ล้านตันข้าวสาร เวียดนาม 0.92 ล้านตันข้าวสาร ปากีสถาน 0.63 ล้านตันข้าวสาร และสหรัฐฯ 0.19 ล้านตันข้าวสาร
ส่วนราคาส่งออกข้าวสารของ The Rice Trader เดือนก.พ. 2566 พบว่า ราคาข้าวของไทยทุกชนิดปรับตัวลดลง เวียดนาม ราคาข้าว Jasmine ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนข้าวขาวราคาปรับตัวลดลง อินเดียราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปากีสถาน ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวลดลง และสหรัฐฯ ราคาข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้น
การส่งออกข้าวของไทย ปี 2565 – 2566 อันดับหนึ่งเป็นข้าวขาวคิดเป็น 52% รองลงมา ได้แก่ ข้าวนึ่ง 24% ข้าวหอมมะลิไทย 17% ข้าวหอมไทย 4% ข้าวเหนียว 2% และข้าวกล้อง 1% โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็น 52% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา 22% ตะวันออกกลาง12% สหรัฐ 9% ยุโรป 4% และโอเชียเนีย1%
อย่างไรก็ตามแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2566 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ร่วมกันคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลงเพราะพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศผู้ผลิตสำคัญเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิกาศซึ่งอาจส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามปริมาณธัญพืชในตลาดโลกมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศลดปริมาณการนำเข้าข้าวลงและนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้นและจากปัจจัยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและมีความผันผวน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยลดลง