คลังหาทางตั้งเป้าเงินเฟ้อสูง เพื่อบีบแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

คลังหาทางตั้งเป้าเงินเฟ้อสูง เพื่อบีบแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
คลังหาทางบี้แบงก์ชาติขยายกรอบเงินเฟ้อ เพื่อใช้บีบให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีการหารือการขยายกรอบอัตราเงินเฟ้อ ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ใช้เป็นกรอบในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันกรอบเงินที่ใช้อยู่ 1-3% โดยส่วนตัวเห็นว่าเพดานล่างที่กำหนด 1% ต่ำเกินไป ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย ราคาสินค้าไม่ขึ้น ซึ่งรัฐบาลอยากเห็นเงินที่สูงกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม คลังต้องสรุปแนวทางให้ได้ก่อนเพื่อไปหารือกับ ธปท. ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 ขยับกรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% ให้สูงขึ้น และแนวทางที่ 2 กำหนดค่ากลางกรอบเงินเฟ้อ เช่น 2% บวกลบ 0.5% เป็นต้น

“กรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญ หาก ธปท. ทำไม่ได้ ก็ต้องให้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ถึงการลงโทษ แต่ต้องมีมาตรการที่บังคับเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามหากการหารือกรอบเงินเฟ้อใหม่กับธปท. ไม่เห็นตรงกัน ก็ต้องถอยคนละก้าว ส่วนจะหารือกับ ธปท.เมื่อไร ยังบอกไม่ได้” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1% มาจากที่รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังเป็นสำคัญ ไม่ใช่มาจากนโยบายการเงินของ ธปท. ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ย หากรัฐบาลไม่อัดนโยบายการคลัง เชื่อว่าเงินเฟ้อปัจจุบันจะอยู่ที่ 0.3-0.4% เท่านั้น

ทั้งนี้ กรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ ธปท. ใช้อยู่ มีกระบวนการที่ต้องเสนอให้ รมว.คลัง เห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ใช้ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีเครื่องมือคือนโยบายดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือ ซึ่งความพยายามของรัฐบาลที่จะขยายกรอบเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบีบให้ ธปท.   ลดดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ระดับ 2.50% ลง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเรียกร้องให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ ธปท. ยังคงดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเศรษฐกิจหลายสำนักประเมินตรงกันว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ต่อเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ลดดอกเบี้ยที่ระดับ 5% ลงเสียก่อน เพราะหาก ธปท. ลดดอกเบี้ยในประเทศก่อนที่สหรัฐลดดอกเบี้ย จะทำให้ตลาดเงินไทยเกิดความผันผวน เงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนนำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันในไทยจะแพงขึ้น ส่งผลกระทบต้นทุนสินค้าและบริหารในวงกว้าง กระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างมากตามมา

TAGS: #กรอบเงินเฟ้อ