กางแผน Oil Plan 2024 กระตุ้นลงทุน 1.13 แสนล้านบาท

กางแผน Oil Plan 2024 กระตุ้นลงทุน 1.13 แสนล้านบาท
กรมธุรกิจพลังงาน เดินหน้าเฮียริ่งแผนน้ำมัน จ่อเลิกขายโซฮอล์91 พร้อมปรับโครงสร้างการใช้เอทานอล-บี100 และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อ

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.)ได้จัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็น “(ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 แผนสำคัญที่อยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติ ประกอบไปด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) 2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) 3..แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 (AEDP2024) และ 4.แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567 – 2580 (EEP2024)

นายสราวุธ  แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่าการจัดทำแผน Oil Plan 2024 ได้นำเสนอข้อมูลถึงแนวโน้ม และทิศทางความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโลก ที่แนวโน้มลดลง ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ที่ส่งผลให้ Oil Peak demand ของประเทศไม่เกินปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) แต่น้ำมันยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยเฉพาะในภาคขนส่ง จึงได้วางกรอบการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้วิสัยทัศน์ “ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยความมั่นคง และยกระดับธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Transitioning with security and competitiveness)”

ทั้งนี้สาระสำคัญของ (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงกรมธุรกิจพลังงานได้วางแผนทบทวนรูปแบบและอัตราการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม  กำหนดให้มีสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศให้ได้ 90 วัน หรือประมาณ 14,310 ล้านลิตร จากปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันดิบ 6% และน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของการจำหน่าย หรือเท่ากับเป็นการสำรองน้ำมันรวม 25 วัน แต่ยังมีในส่วนของผู้ผลิตที่สำรองไว้อีก 45-50 วัน ทำให้วันนี้ไทยยังมีการสำรองน้ำมันโดยรวมประมาณ 70-75 วัน

2. ด้านการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อบริหารจัดการอุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลง บนเงื่อนไขที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถอุดหนุนราคาได้ในอนาคต มีราคาเหมาะสม และสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ด้านภาคขนส่งทางบก ปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศ โดยในส่วนของน้ำมันดีเซลจะกำหนดให้ไบโอดีเซลB7 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และกำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ระหว่าง 5-9.9% (จากปัจจุบันกำหนดสัดส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ 6.6-7%) ส่วนดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก และจะสนับสนุนให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไปใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2578-2580

ขณะที่กลุ่มน้ำมันเบนซินจากปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ 5 ชนิด และอยู่ระหว่างการเลือกกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ 95 หรือ แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศต่อไปโดยจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ออกไปภายในปี 2568  ส่วนแก๊สโซฮอล์ E85 และเบนซิน จะเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

3. ด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงานได้วางแนวทางปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย การกำกับดูแลการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นน้ำมัน  การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการคลังน้ำมัน  โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อให้มากขึ้น จากปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางท่อมีสัดส่วนประมาณ 36-39% จะเพิ่มเป็น 45% ในปี 2570 และเป็น 55% ในปี 2580

4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมการผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  กรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมีพลาสติกชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ และน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570

อย่างไรก็ตามภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ฉบับนี้คาดว่าในมิติเศรษฐกิจ จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 113,000 ล้านบาท สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลกว่า 71,000 ล้านบาท/ปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าน้ำมันดิบได้ 59,000 ล้านบาท/ปี ส่วนทางด้านมิติสังคมนั้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 41,500 ล้านบาท/ปี และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 mtCO2 เทียบเท่า/ปี เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่/ปี

ทั้งนี้หลังจากรับฟังความเห็นร่างแผน Oil Plan 2024 แล้ว กระทรวงพลังงานจะรวบรวมทั้ง 5 แผนดังกล่าวไว้ในแผนพลังงานชาติ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ขณะที่นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีนี้ สถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศไทยจะยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนและต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากการเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน แม้ว่าปี 2567นี้ ยอดจดทะเบียนจะลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาว รถ EV จะเติบโตมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท และตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 แต่ยังสามารถผ่อนผันได้อีก 2 ปี หรือ ไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น กองทุนน้ำมันฯ จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว ทางกระทรวงพลังงาน จึงต้องกำหนดแผนว่าจะดูแลผู้ประกอบการเอทานอลและไบโอดีเซลอย่างไร

 

 

TAGS: #แผนน้ำมัน #แก๊สโซฮอล์91 #บี100 #ไฮโดรเจน