TikTok กำลังเป็นจุด Eye-level ดึงความสนใจจากกลุ่มผู้รับชมคนไทย ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยุคใหม่ แนะครีเอเตอร์ทำคอนเทนต์คู่บันเทิง จะช่วยมากสร้างโอกาสขายเพิ่ม
สิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing , TikTok ประเทศไทย ผู้ให้บริการ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นระดับโลก เปิดเผยว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยได้พัฒนาไปสู่การเป็น ออมนิ-ช้อปเปอร์ (Omni-Shopper) ลูกค้าสามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้หลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์
สอดคล้องกับรายงานของ กันตาร์เรื่อง ‘The Omni-Shopper Revolution’ สะท้อนสถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันที่ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมจากหมู่ผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น
ปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในประเทศไทย (ประมาณ 45%) ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้แบรนด์ต้องหันมาทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น
"TikTok ได้กลายมาเป็นจุด ‘Eye-Level’ ใหม่ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและสร้างผลลัพธ์ให้กับสินค้า FMCG ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ใช้ชาวไทยกว่า 92% ยกให้ TikTok เป็นพื้นที่แห่งความบันเทิงและการช้อปปิ้งที่พวกเขานึกถึง” สิรินิธิ์ กล่าว
พร้อมเสริมว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมีผลิตภัณฑ์มากมายทำให้แบรนด์สร้างความโดดเด่นได้ยากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแบรนด์เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงมองหาความคุ้มค่าและคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ แบรนด์จึงต้องทำคอนเทนต์นำเสนอสินค้ามากขึ้นเพื่อให้ถูกค้นพบโดยกลุ่มเป้าหมาย ด้วยคอนเทนต์ที่กลมกลืนเป็นธรรมชาติบนหน้าฟีดของ TikTok ช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและส่งอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากกว่าแค่การรับชมคออนเทนต์
โดยสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคของ Accenture Song ซึ่งจัดทำร่วมกับ TikTok ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากว่า 78% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะรับชมคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ บนแพลตฟอร์ม สะท้อนให้เห็นว่า TikTok เป็น Eye-Level จุดใหม่ในโลกธุรกิจ
3 ปัจจัย สร้างพลังคอนเท้นต์บน TikTok
สิรินิธิ์ กล่าวว่านอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยปลดล็อกโอกาสในการทำการตลาด ด้วยการค้นพบคอนเทนต์ที่ใช่บน TikTok ดังนี้
- การเติบโตของคอมมูนิตี้คอนเทนต์สินค้าอุปโภคบริโภคบน TikTok
ผู้ใช้งาน TikTok ให้ความสนใจกับคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคบนแพลตฟอร์มอย่างมีนัยสำคัญและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคอมมูนิตี้คอนเทนต์ของสินค้าประเภทนี้มีการเติบโตสูงขึ้นในหลากหลายหมวดหมู่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากความสามารถอันโดดเด่นของ TikTok ในการเป็นพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน
- สร้างสะพานเชื่อมระหว่างแบรนด์กับครีเอเตอร์และคอมมูนิตี้
TikTok เชื่อมโยงแบรนด์กับคอมมูนิตี้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับครีเอเตอร์ ช่วยให้แบรนด์และผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้นและต่อยอดไปสู่การเติบโต โดย 83% ของผู้ใช้หันมาพิจารณาแบรนด์หรือสินค้าอุปโภคบริโภคเพราะคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ที่ค้นพบบนแพลตฟอร์ม ครีเอเตอร์บน TikTok จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับแบรนด์
- พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการค้นพบสู่การกระทำ
พฤติกรรมของผู้บริโภคบน TikTok เปลี่ยนไปอย่างมากจากการค้นพบไปสู่การกระทำที่เป็นรูปธรรม โดย 90% ของผู้ใช้ที่ค้นพบแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคบน TikTok จะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากนั้นทันที แสดงให้เห็นถึงความสามารถของแพลตฟอร์มในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมที่ลึกซึ้ง และผู้ใช้ 2 ใน 3 ตั้งใจเสิร์จบน TikTok เพื่อค้นหาข้อมูลหรือสินค้าที่สนใจ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
“ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมของคอมมูนิตี้บน TikTok สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้แก่ธุรกิจ” สิรินิธิ์ กล่าว