เปิดเส้นทาง‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ ความภูมิใจ 28 ปีกับปตท.สผ.

เปิดเส้นทาง‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ ความภูมิใจ 28 ปีกับปตท.สผ.
ปตท.สผ.โฟกัสพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมให้มีศักยภาพพร้อมเดินหน้าหาแหล่งก๊าซธรรมชาติสร้างความมั่นคงพลังงานปักธง ในปี 2030 เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 9 แสนบาร์เรลต่อวัน

ปตท.สผ.กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 40 นับเป็นองค์กรสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหาแหล่งปิโตรเลียมสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

สำนักข่าว The Better ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้บริหารคนสำคัญ ‘มนตรี  ลาวัลย์ชัยกุล’  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถึงโอกาสที่ได้เข้ามาร่วมทำงานและสร้างการเติบโตในองค์กรแห่งนี้กว่า  28 ปี  และเตรียมส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารคนต่อไปหลังหมดวาระในเดือนก.ย. นี้

มนตรี  เล่าถึง ความภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของปตท.สผ.ว่า ถ้านับกันจริงอยู่ในวงการอุตสาหกรรมพลังงานมาขึ้นปีที่ 33  แล้ว  และไม่เคยคิดว่าจะมาถึงตำแหน่งในปัจจุบัน  ผมอาจเป็นคนโชคดีที่จังหวะชีวิตมีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศให้กับปตท.สผ.เยอะ ถ้านับที่ทำงานตลอด 23 ปี ไปทำงานในต่างประเทศประมาณ 17 ปี  โดยเริ่มทำงานตำแหน่งแรกเป็นนักธรณีฟิสิกส์ เมื่อเดือนธ.ค. ปี 1991 หลังจากเรียนจบที่ออสเตรเลีย ทำไปได้ระยะหนึ่งก็ลาออกไปทำงานกับบริษัทต่างชาติอยู่ 6 ปี  

ตอนทำงานกับปตท.สผ.เป็นบรรยากาศที่ดีมี Passion ผิดกับการไปทำงานกับฝรั่งใช้งานทำวันละ 18-19 ชม. แต่ก็ได้เรียนรู้เยอะ มีโอกาสได้ไปอยู่ตะวันออกกลาง 3 ปี  6 ประเทศ  อยู่ออสเตรเลียอีก 3 ปี
หลังจากนั้นปี 2003  ทางปตท.สผ.ชวนมาทำงานด้านพัฒนาธุรกิจ โดยได้รับมอบหมายให้ไปดูแลโครงการสำรวจปิโตรเลียมที่อิหร่าน 3 ปี แต่อยู่จริง 5 ปี  จนเกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรทางการค้าทำธุรกิจต่อไปไม่ได้ จนได้ย้ายไปทำงานที่โอมานต่ออีก  3 ปีครึ่ง  ตอนแรกคิดว่าจะได้กลับแต่ก็ถูกขอให้ไปช่วยงานที่ออสเตรเลีย 3 ปีครึ่ง จนได้กลับมาไทยเมื่อปี 2016

เมื่อกลับมาที่ไทยได้รับมอบหมายให้มาช่วยด้านพัฒนาธุรกิจรู้สึกตกใจกับประวัติศาสตร์ของแผนการผลิตของปตท.สผ. ในปี 2015 กำลังการผลิตพีคสุด  แต่ปี 2016 เริ่มลดลง เริ่มถดถอย ได้พูดคุย CEO สมัยนั้น (คุณพงศธร ทวีสิน) ว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องหาซื้อกิจการเพิ่ม จะปล่อยไว้แบบนี้ไมได้ยอมรับว่าช่วงนั้น ทำ M&A หนักมากเริ่มซื้อหุ้น 22% จากเชลล์ในโครงการบงกช 

จุดเปลี่ยนอีกอย่างคือการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ทั้งหมดในบริษัทย่อยของ เมอร์ฟี่ ออยล์ฯ ในประเทศมาเลเซีย มูลค่า 2,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถูกตั้งคำถามเยอะว่าคิดอะไรถึงไปซื้อโครงการในมาเลเซีย เหตุผลก็คือเชื่อว่ามีโอกาสเติบโตเพราะมีบุคคลากรทำงานอยู่แล้ว 600-700 คน  หลังจากนั้นก็ทยอยซื้อหุ้นบริษัทเก่าในตะวันออกกลาง ทั้งโอมาน   ยูเออี

มนตรี กล่าว่า สำหรับปตท.สผ. ต้องยอมรับในช่วง 2-3 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ ยังไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการแหล่งปิโตรเลียม แต่อาศัยจากการเข้าไปร่วมลงทุนกับคนอื่นโดยเริ่มเป็นผู้ดำเนินการสำรวจให้กับกรมพลังงานทหารที่จังหวัด แพร่และลำปาง  ประกอบเป็นช่วงเดียวกับที่ได้ลงนามพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ (JDA ) และเริ่มมีรายได้มากขึ้น จึงปรับกลยุทธ์เข้าไปซื้อกิจการ และเข้าไปพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในแต่ละประเทศ

“หากมองช่วงที่ผ่าน ตั้งแต่ปี 2016 ถึงปัจจุบัน ปตท.สผ. ใช้กลยุทธ์ Inorganic Growth เป็นการเติบโตจากสิ่งที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง เลือกวิธีการซื้อหุ้นร่วมทุนกับคนอื่น  แต่จากนี้ไปได้ให้ Direction กับน้องๆไปว่า ต้องปรับให้เป็นเป็น Organic Growth  โดยแหล่งต่างๆที่เราสำรวจเจอต้องพัฒนาให้ได้  ต้อง Turn เป็น Value ให้ได้ มุ่งมั่นทำต่อ

ขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสที่ดี ของการทำ M&A ก็ดูเป็นรายพื้นที่ โดยปตท.สผ.ควรทำธุรกิจแบบชี้เป้า จะไปที่ไหนบ้าง เพราะช่วงที่ผ่านมาเรามักรอโอกาสเข้ามาหาเรามากกว่า   ต้องเปลี่ยนแนวคิดเราต้องชี้เป้าให้ชัดเจน การทำงานก็สบายมากขึ้น
ดังนั้นหากต้องการทำให้ได้ถึงเป้า 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ก็ต้องเร่งพัฒนาแหล่งที่มีอยู่ให้ได้เพิ่มขึ้น”

มนตรี  กล่าวว่า เป้าหมายของปตท.สผ.ตอนนี้ให้ความสำคัญกับโครงการก๊าซธรรมชาติ แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่มองว่าก๊าซธรรมชาติช่วยในเรื่องการลดมลภาวะ ปีนี้เราก้าวข้ามปีที่ 39 ขึ้นสู่ปีที่ 40  ตราบใดที่โลกนี้ยงใช้พลังงานในรูปแบบก๊าซ ผมเชื่อว่าก๊าซสะอาดขึ้นเป็นต้นทุนที่ถูก ผมยังไม่เห็นว่าจะมีพลังงานไหนมาทดแทนก๊าซได้   โดยหลังจากนี้เชื้อเพลิงที่จะเริ่มใช้ลดลงคือถ่านหิน ขณะที่การใช้ก๊าซอาจคงที่   อาจมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาบ้างแต่ไม่ได้ทำให้ก๊าซน้อยลงไป

หลายคนมองว่าความนิยมของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV)จะทำให้ใช้ก๊าซน้อยลง ผมก็ถามต่อว่า EV มาจากไหน ต้องยอมรับว่าโรงไฟฟ้าในประเทศผลิตจากก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 70%

อย่างไรก็ตามความภูมิใจในการทำงานกับปตท.สผ.คือ 1.มีผู้บริหารที่ดีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน  2. คณะกรรมการบริษัทมีความเข้าใจธุรกิจและร่วมกันตัดสินใจพร้อสนับสนุน   3. เป็นองค์กรที่มีคนเก่งเยอะมีศักยภาพ ถ้ามีทิศทางให้เค้าเดินชัดเจน วันนี้ภูมิใจที่น้องๆอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน มีเป้าหมายเดียวกัน 

“หากถามถึงปตท.สผ คิดถึงอะไร  เค้าเห็น DNA  เห็น Passion  ที่สำคัญปตท.สผ.ในยุคต่อไป ต้องมีผู้นำองค์กรที่ให้ความชัดเจน มีทิศทางที่ชัด ทำให้ได้ตามเป้าหมายผมเชื่อวันนี้เราเห็นภาพเราชัด ปตท.สผ.มีสองหมวกคือ หมวกหนึ่งคือการสร้างความมั่นด้านพลังงานให้กับประเทศ และอีกหมวกคือ ต้องตอบแทนการลงทุนให้กับผู้ลงทุนทั้งหลาย

การลงทุนในต่างประเทศมีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.อัตรากำลังการผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย  ดูการลงทุนที่คุ้มค่ากับราคาวันทีมวันโก ทำงานเป็นทีม เชื่อว่าไปได้ไกล ตอนนี้ปตท.สผ.แข็งแรงมาก ทั้งกำลังคน ทั้งกำลังเงิน ทรัพย์ แผนงาน เป็นบริษัทที่ไปได้อีกไกล”

 

 

TAGS: #ปตท.สผ. #มนตรี #ลาวัลย์ชัยกุล #ก๊าซธรรมชาติ