กกร.ห่วงยานยนต์-อสังหาฯ ชะลอตัว ฉุดจีดีพีร่วง 0.4%

กกร.ห่วงยานยนต์-อสังหาฯ ชะลอตัว ฉุดจีดีพีร่วง 0.4%
กกร.เผย 5 เดือนยอดขายรถยนต์วูบ 24% ขณะที่ยอดโอนอสังหาฯลดลง 11.8% หวั่น 2 ภาคธุรกิจซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังสูงต่อเนื่อง ทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง

นายผยง  ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ได้ประเมินสถานการณ์การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้น การค้าโลกชะลอตัวตลอดไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะต่อเนื่องเป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น

 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางส่วนเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อจีนมีผลภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่าระวางเรือล่าสุดปรับตัวขึ้น  95% เมื่อเทียบจากเดือน เม.ย. 67 ขณะที่ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนานขึ้นตามภาวะขนส่งคับคั่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของโลกในระยะข้างหน้า

 

สำหรับการส่งออกไทยเผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน การขึ้นภาษีของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนรอบใหม่อาจกระทบสินค้าส่งออกไทยที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้แก่จีน ซึ่งประเมินว่าสินค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปจีน โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมาก เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้อาจมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าและการปรับเปลี่ยนมาส่งออกจากไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีประเด็นฉุดรั้งจากเรื่องต้นทุนจากการขาดแคลนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงปรับกรอบการเติบโตของการส่งออกเป็น 0.8-1.5% จากเดิม 0.5-1.5%

 

อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ กระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทย อุปสงค์ในประเทศยังเปราะบางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง อย่างยานยนต์และอสังหาฯ โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกหดตัว 24% ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีรายได้จากเศรษฐกิจนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง

 

ส่วนยอดโอนอสังหาฯ 4 เดือนแรกสำหรับบ้านจัดสรรหดตัว 11.8% และอาคารชุดหดตัว 7.4% ซึ่งหากอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาฯ มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้นอาจจะกระทบทำให้ GDP ปีนี้ลดลงกว่าที่คาดไว้ 0.3-0.4% 

 

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.

%YoY

ปี 2567

(ณ พ.ค. 67)

ปี 2567

(ณ มิ.ย. 67)

ปี 2567

(ณ ก.ค. 67)

GDP

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

ส่งออก

0.5 ถึง 1.5

0.5 ถึง 1.5

0.8 ถึง 1.5

เงินเฟ้อ

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

 

นายผยง  กล่าวว่า ที่ประชุมมีความกังวลต่อปัญหาการขนส่งทางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมและจำกัดความสามารถในการส่งออกของไทยที่อยู่ในภาวะเติบโตต่ำ ขอให้ภาครัฐมีมาตรการหรือแนวทางเร่งด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มลากยาวตลอดช่วงที่เหลือของปี  รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการผลิตจากการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีความกังวลถึงต้นทุนด้านพลังงาน โดยในการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024 ) และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอให้คำนึงถึงประเด็นเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะยาว และการปรับให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทน E10 และขอให้มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้จากการที่ กกร.จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการประชุมหารือผู้แทนในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคีระดับจังหวัด) เกี่ยวกับนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตรและบริการไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

 

ขณะเดียวกนภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ชะลอตัวต่อเนื่องทำให้ส่งกระทบต่อรายได้ในช่วงที่ผ่านมา จึงได้ให้ความเห็นกับคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด ให้ค่าแรงที่ปรับมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยที่ประชุม กกร. เน้นย้ำถึงความสำคัญในการใช้กลไกของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่

 

นอกจากนี้ กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (Competency Based Pay) ด้วยความร่วมมือเชิงรุกจากภาคนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเร่ง Upskill, Reskill ให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือตามมาตรฐาน โดย กกร. จะร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการสนับสนุน โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการกำหนดมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 279 สาขา และมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามทักษะมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว จำนวน 129 สาขา ซึ่งสามารถเป็นกลไกในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตามทักษะแทนการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงจะเป็นระบบที่สามารถรับรองทักษะแรงงาน ตอบโจทย์เทคโนโลยีและบริบทของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ยกระดับรายได้ให้แก่แรงงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Productivity) ให้แก่ประเทศ

 

 

TAGS: #กกร. #ยานยนต์ #อสังหาริมทรัพย์ #ค่าแรงขั้นต่ำ