ครม.อนุมัติงบ 1,939.75 ล้านบาท ให้ กฟน.-กฟภ. อุดหนุนลดค่าไฟฟ้าย้อนหลังในงวดแรก ตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ช่วยประชาชนได้ 17.7 ล้านครัวเรือน
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (9 กรกฎาคม 2567) มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณในวงเงิน 1,939.75 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าไฟฟ้าเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยกรอบวงเงินของ กฟน. จำนวน 356.30 ล้านบาท และเป็นกรอบวงเงินของ กฟภ. จำนวน 1,583.45 ล้านบาท โดยให้ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป
ทั้งนี้สถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพลังงานของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าแก่ประชาชน มท. โดย กฟน. และ กฟภ. ได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567 (ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 21 สตางค์ต่อหน่วย ก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถประมาณการงบประมาณที่ใช้ดำเนินการได้ ดังนี้
ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2567
-กฟน. ผู้ใช้ไฟฟ้า 2.38 ล้านราย วงเงิน 356.30 ล้านบาท
-กฟภ. ผู้ใช้ไฟฟ้า 15.35 ล้านราย วงเงิน 1,583.45 ล้านบาท
-รวม ผู้ใช้ไฟฟ้า 17.73 ล้านราย วงเงิน 1,939.75 ล้านบาท
นอกจากนี้ให้ กฟน. และ กฟภ. ใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายจ่ายเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,939.75 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติและแผนการใช้จ่ายงบฯ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าไฟฟ้า/ค่าครองชีพแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป
ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อ ครม. ตามนัยมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว