ค่าครองชีพพุ่ง -การเมืองขาดเสถียรภาพ กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคขาลง

ค่าครองชีพพุ่ง -การเมืองขาดเสถียรภาพ กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคขาลง
ม.หอการค้าฯ เผย 3 ปัจจัยเสี่ยงทำดัชนีเชื่อมั่นฯลดลงต่อเนื่อง ต่ำสุดรอบ 9 เดือน กังวลค่าครองชีพสูง ทั้งค่าไฟ ราคาน้ำมัน  ขณะที่การเมืองไม่นิ่ง ส่งผลกำลังซื้อหดตัว

รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ   เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2567ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 60.5 เป็น 58.9 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นมา

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40  สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี และกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.6 56.1 และ 67.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 54.3 57.6 และ 69.8 ตามลำดับ

การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

“ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูงทั้งค่าไฟฟ้า ราคาดีเซลที่เตรียมปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้"

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 44.1 เป็น 42.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 มาอยู่ที่ระดับ 66.7 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบ 10 เดือนทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในมุมมองของผู้บริโภค

รศ.ดร.ธนวรรธน์  กล่าวว่าความเชื่อมั่นฯต่ำสุดรอบ 9 เดือน จากปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล คือ 1. ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งราคาอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าน้ำ 2.กำลังซื้อภายในลดลง รายได้หายากขึ้น ส่งผลบรรยากาศเศรษฐกิจซึมและฟื้นช้า 3.ความไม่นิ่งของการเมือง หรือไม่มั่นใจเสถียรภาพในอนาคต โดยเฉพาะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหากต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกฯจะมีผลต่อเงินงบประมาณรวมถึงเงินดิจิทัล โดยส่งผลให้ทิศทางเชื่อมั่นขาลง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในต้นไตรมาสที่สี่ของปีนี้

 

TAGS: #ดัชนีเชื่อมั่น #ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค #ค่าครองชีพสูง #การเมืองไม่นิ่ง #กำลังซื้อหดตัว