เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากดดัชนีเชื่อมั่นฯลดต่อเนื่องต่ำสุดรอบ24เดือน

เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากดดัชนีเชื่อมั่นฯลดต่อเนื่องต่ำสุดรอบ24เดือน
ส.อ.ท.ชี้กำลังซื้อยังอ่อนแอผลจากภาระหนี้สูง ส่งผลต่อความเชื่อมั่น  ขอรัฐเร่งดูแลต้นทุนพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน กระทบต้นทุนภาคการผลิต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3  ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ลดลงต่ำสุดในรอบ 33 เดือนเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง

รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ

นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low season และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีนที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,341 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 62.4 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 63.4 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 49.4 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 61.9 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 57.1     อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 35.1 ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

ด้านความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน รอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

“ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมกังวลกับเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าและค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้น  จะทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนานอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.30 บาทต่อหน่วย ขณะที่ไทยค่าไฟอยู่ที่ 4-5 บาทต่อหน่วย ไม่เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งสิ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขึ้นค่าจ้างแรงงานขั่นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในเดือน ต.ค.67 นี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมปิดกิจการหรือปรับลดคนงานลงอีก ดังนั้นภาคเอกชนขอให้ภาครัฐช่วยดูแลมาตรการเหล่านี้ให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติด้วย”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ไว้ดังนี้1.เสนอให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs

2.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MiT)  3.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

 

TAGS: #ส.อ.ท. #ภาระหนี้สูง #ค่าไฟฟ้า #ราคาน้ำมัน #ต้นทุนการผลิต