กฟผ.-ปตท.รับภาระ 1.8 หมื่นล้าน ตรึงค่าไฟฟ้างวดสุดท้าย

กฟผ.-ปตท.รับภาระ 1.8 หมื่นล้าน ตรึงค่าไฟฟ้างวดสุดท้าย
ชงครม.รับทราบแนวทางดูแลค่าไฟฟ้าสั่งปตท.แบกค่าก๊าซ ขณะที่ยืดจ่ายหนี้คืนกฟผ. ลดค่าเอฟทีไปได้ 47 สตางค์ชะลอขึ้นค่าไฟ ช่วยลดค่าครองชีพให้คนไทย

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 ก.ค.นี้ กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอแนวทางการดูแลอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังตรึงค่าไฟฟ้าไว้อัตราเดิมหน่วยละ 4.18 บาท  หลังมีการเจรจาขอความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) รับภาระค่าใช้จ่าย เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือทางปตท.ยังไม่รับชำระค่าก๊าซธรรมชาติในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) 25 สตางค์(สต.)ต่อหน่วย  ส่วนการชำระหนี้คืนกฟผ.ทยอยจ่ายคืนเพียงบางส่วน โดยจะรับภาระในงวดนี้ต่อไป 3,200 ล้านบาท หรือเท่ากับ 22 สต.ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ยังตรึงค่าไฟฟ้าไว้ได้ 4.18 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่จะต้องขึ้นอย่างต่ำ 4.65 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบันกฟผ.มีภาระหนี้จากการเข้าไปดูแลค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา 98,490 บาท  ซึ่งล่าสุดการประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2567  ทางคณะกรรการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดทางเลือกในการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าพร้อมกับแนวทางการชำระหนี้คืนกฟผ. ไว้ 3 แนวทาง คือ

1.ปรับขึ้นค่าเอฟทีเท่ากับ 34.30 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 98,495 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่าส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บตามกรอบนโยบายของคณะรัฐมนตรี และราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง (AFGas) เฉพาะภาคไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าของประเทศเป็นเงินประมาณ 15,844 ล้านบาท มูลค่า AFGas  จานวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สต.ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้น 188.41 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระคืนทั้งหมด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย จากเดิม  4.18 บาทต่อหน่วย

2. กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ให้กฟผ.ค่าเอฟที เท่ากับ 113.78 สต.ต่อหน่วย จะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จานวน 34.30 สต.ต่อหน่วย และทยอยชำาระคืน ออกเป็น 3 งวดๆ ละจานวน 32,832 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 54.46 สต.ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สต. จะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย

3. กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย จะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สต.ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนกฟผ.ออกเป็น 6 งวดๆ ละจานวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.23 สต.ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS  จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าเอฟที ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย

 

TAGS: #ครม. #ปตท. #กฟผ. #ค่าเอฟ