แอร์เอเชีย เทคออฟแผนธุรกิจยุคโลกหลังโควิด ปักหมุดปี 2023 เป็นปีสำคัญสู่การทะยานสู่ผู้นำอุตฯการบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เพิ่มจำนวนฝูงบิน 58 ลำในสิ้นปี รับตัวแปรสำคัญนักเดินทางจีน
วันที่ 24 มี.ค. บริษัทเอเชีย เอวิเอชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ไทยแอร์เอเชีย (Airasia) เปิดศูนย์ฝึกอบรมและการเรียนรู้ Asia Aviation Academy จัดงาน Investor Day พร้อม 2 คีย์แมนหลัก “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร และ “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV ร่วมตอบคำถามนักลงทุนถึงแผนธุรกิจแอร์แอร์เอเชียที่เตรียมกลับมาเติบโต หลังอุตสาหกรรมการบินโลกหยุดชะงักไปร่วม 2 ปีเต็ม
เตรียมพร้อมธุรกิจยุค Post Pandemic
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทแอร์เอเชีย เอวิเอชัน จำกัด (มหาขน) หรือ AAV ผู้บริหารสายการบินแอร์เอเชีย กล่าวเปิดงานหลังพบนักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นงานแรกของปีนี้ พร้อมเปรยว่า “ทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบปะใครๆ หลายคนมักจะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราเป็นอย่างไรบ้าง?" เหนื่อยไหมในช่วงสองปีที่ผ่านมา...
และในวันนี้ ผมอยากบอกกับทุกคนว่าจากนี้ไป "เรากำลังดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ"
โดยปัจจัยหลักที่เข้ามาสนับสนุนคำยืนกรานข้างต้นของผู้บริหาร AAV คือ “เราได้เตรียมความพร้อมขององค์กรและธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจำนวนฝูงบิน ลูกเรือ กัปตัน วิศวกร และพนักงานที่ยังอยู่ครบทั้งหมด ซึ่งแอร์เอเชีย ไม่ได้ไล่ใครออกเลย แม้แต่คนเดียว”
นอกจากนี้ แอร์เอเชีย ยังมีความพร้อมด้านสถานที่ฝึกอบรมฯ Asia Aviation Academy ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2019 บนพื้นที่ 19 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ด้วยมูลค่าโครงการกว่า 1,700 ล้านบาท
เพื่อรองรับงานบริการอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ที่เตรียมฟื้นคืนกลับมาและมีความต้องการบุคลากรสายงานบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
นอกจากนี้ยังจะเป็นสถานที่รองรับการจัดอีเวนต์ต่างๆ ด้วยยังมีบริการด้านจัดเลี้ยงที่ครบวงจร รองรับอีกด้วย ซี่งยังไม่นับรวมฝูงบินของแอร์เอเชียที่เตรียมนำกลับมาให้บริการได้ครบ 53 ลำในปีนี้
จากความครบทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์ ของ “แอร์เอเชีย” เป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยแอร์เอเชีย กลับมาเล่นต่อได้ทันที และฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนอื่น
2023 ปีสำคัญของไทยแอร์เอเชีย
ด้าน สันติสุข กล่าวต่อถึงผลงาน AAV ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสามารถครองอันดับ3 สายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และครองอันดับ4 ของสายการบินในกลุ่มสายการบินเต็มรูปแบบและโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่มาตรงเวลาที่สุดในระดับโลก
โดยผลงานที่ได้รับในครั้งนี้ ผู้บริหารไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าสะท้อนมาจากความมุ่งมั่น ในการให้บริการต่อผู้โดยสาร จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นแบรนด์สายการบินต้นทุนประหยัดที่อยู่ในใจผู้บริโภค จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ1 สัดส่วน 34% ด้วยจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 9.95 ล้านราย จากเป้าหมายที่วางไว้ 10 ล้านราย ในปี2022 ที่ผ่านมา
ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการวางแผนล่วงหน้าของ AAV ทั้งการเก็บฝูงบินทั้ง 53 ลำ และการรักษาบุคลากรพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของแอร์เอเชีย ได้เอาไว้ทั้งหมด
และที่สำคัญคือการรักษาสภาพคล่องของกระแสดเงินสดเพื่อนำมาใช้หมุนเวียน “จากก่อนหน้าการแพร่ระบาดโควิด AAV เคยมีเงินสดหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ในตอนนี้เหลืออยู่ราว 800 ล้านบาท แต่จากนี้ไปเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี2023 จะเป็นปีสำคัญของเรา” สันติสุข กล่าว
จากในปี2019 ไทยแอร์เอเชีย เคยมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการราว 22.15 ล้านคน และในปีนี้คาดว่าจะทำให้กลับมาได้อยู่ที่ 20 ล้านคน จากปัจจุบันมีอัตราการกลับมาจองสายการบิน (Capacity) เฉลี่ย 85% ตั้งแต่ช่วงปลายไตนมาส4 ปีก่อนถึงในปัจจุบัน
นักท่องเที่ยวจีน ตัวแปรสำคัญแอร์เอเชีย
สันติสุข กล่าวว่าจากความต้องการเดินทางของทั่วโลกที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับการให้บริการ (Supply)ในขณะนี้ รวมไปถึงต้นทุนน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน มีผลโดยตรงกับการปรับขึ้น Fuel Surcharge และทำให้ค่าบัตรโดยสารของสายการบินต่างปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็รวมถึงสายการบินแอร์เอเชีย ที่ได้ปรับราคาค่าบัตรฯ ตั้งแต่ปีก่อนเฉลี่ยขึ้นมาราว 20%
แต่จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะการเปิดประเทศจีนไปเมื่อต้นปี ซึ่งแอร์เอเชียมองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญของการท่องเที่ยวในปีนี้อย่างมาก
โดยในปี 2023 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางเข้ามาในไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน และหากมองในแง่ดีที่สุดคาดจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 30 ล้านราย จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 40 ล้านคน
สำหรับปีนี้หากสถานการณ์ดีที่สุด คาดจะมีชาวจีนเดินทางกลับเข้ามาไทยราวอยู่ที่ 7-8 ล้านคน โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เตรียมแผนธุรกิจรอบด้านทั้งจำนวนฝูงบินและเปิดเส้นทางใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารของแต่ละเมืองเพิ่มเติมในจีนเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ทางจีนเตรียมความพร้อมของสนามบินรวมไปถึงพาสปอร์ตของชาวจันที่หมดอายุไปจำนวนหลายเล่มในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย
โดยคาดว่า จะได้เห็นการเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวชาวจีน จำนวนมหศาลจากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากต้นปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมาแล้วราว 5.5 ล้านคน เป็นนักเดินทางจีน 390,000 คน คิดเป็น 8% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าไทย และเป็นอันดับ 4 รองจาก มาเลเซีย รัสเซีย และเกาหลี
โดยในจำนวน 3.9 แสนคน เป็นลูกค้าแอร์เอเชีย 80,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20%
สำหรับปี 2023 ไทยแอร์เอเชีย จะขยายเส้นทางการบินในจีนอย่างน้อย 8 เมือง อาทิ กว่างโจ เจียงเป่ย ฉางชา หางโจว คุนหมิง เซินเจิน อูไห่ และหลูโขว่ มีตารางบิน 40 เที่ยวบิน/สัปดาห์
ส่วนในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส4 ปีนี้ จากต้นทางสนามบินดอนเมืองไปยัง 3 เมือง คือ เฉิงตู เสียนหยาง และซัวเถา จะขยายเที่ยวบินเป็น 100 เที่ยวบิน/สัปดาห์
ส่วนในไตรมาส 3-4 ปีนี้ มีแผนจะขยายเส้นทางต้นทางไปที่เชียงใหม่ตรงไปถึงจีน 4 เส้นทาง คือ ฉางชา ปักกิ่งต้าชิง เซินเจิน และหางโจว และขยายการบินไปสู่ 110 เที่ยวบิน/สัปดาห์
เพิ่มฝูงบิน เปิดเส้นทางใหม่
สันติสุข กล่าวว่าจากแนวโน้มการขยายตัวคีย์ มาร์เก็ต นักเดินทางชาวจีนโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวของจีน (Golden Week) ในเดือนตุลาคม 2023 และต่อเนื่องในอนาคต โดยในไตรมาส4 ปีนี้ แอร์เอเชียเตรียมขยายฝูงบินอีก 5 ลำ เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น โดยภายในสิ้นปีนี้จะมีฝูงบินรวม 58 ลำ จากเดิมมี 53 ลำ
โดยแอร์เอเชีย จะใช้วิธีบริหารจัดการฝูงบินนระหว่างกลุ่มเพื่อนำมาใช้ในเส้นทางการบินใหม่ๆในอนาคต โดยในปี 2024 เตรียมรับเครื่องบินแอร์บัส เอ321 มาให้บริการเพิ่มจำปัจจุบันมีจำนวน 2 ลำ เพื่อให้สามารถบินในเส้นทางในระยะไกลขึ้น เช่น เส้นทางเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น จากปัจจุบันให้บริการเส้นทางฟูกูโอกะ มีอัตราบรรจุผู้โดยสาร (Load Factor) มากกว่า 90%
รวมถึงยังมีแผนขยายเส้นทางบินไปยังแถบเอเชียใต้ ในเส้นทางภูเก็ต-อินเดียเพิ่ม และขยายเส้นทางการบินในแถบเอเชียในระยะไกล ขึ้น เพื่อผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นอีกราว 10%
สันติสุข กล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมาแอร์เอเชีย ยังได้พัฒนาบริการแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอปฯ เติมเต็มความครบวงจรด้านไลฟ์สไตล์รอบด้านให้กับผู้บริโภคปลายทาง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มส่วนเสริมบริการหลักธุรกิจสายการบินของแอร์เอเชีย
จากการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรภายในของแอร์เอเชีย คาดจะทำให้ AAV กลับมามีกำไรได้ในปี 2023 นี้ และจากภาพรวมการท่องเที่ยวจะฟื้นคืนกลับมาในไทยเกิน 20 ล้านคน โดยปีนี้แอร์เอเชีย คาดว่าจะมีฝูงบินเพิ่มเป็น 58 ลำโดยในปี 2024 เพิ่มเป็น 63 ลำ ส่วนในปี 2025 ขยายเพิ่มเป็น68 ลำ และเพิ่มจำนวนทั้งสิ้นเป็น 73 ลำในปี 2026 พร้อมวางเป้ารายได้ จะมีรายได้ 60,000 ล้านบาท
ขณะที่ในปีนี้ AAV วางเป้ารายได้ปี2023 อยู่ที่ 42,000 ล้านบาท จากในปี 2022 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท