TGO จับมือ KBank วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง

TGO จับมือ KBank วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง
TGO จับมือ KBank วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง ชี้ต้องให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน และเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับธนาคารกสิกรไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัพเดทสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” ผลวิจัยชี้ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องการความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เทียบเท่าระดับสากล ส่วนกลุ่ม SMEs ต้องการทั้งความรู้และเงินทุน ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้จะนำไปประกอบการพิจารณา เสนอแนะนโยบายส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย

ดร. ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (MtCO2eq) ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน (ล่าสุดมิถุนายน 2567) มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (MtCO2eq)  มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ที่จะปรับใช้ในอนาคต อีกด้วย

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในประเทศไทยปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด อุปสรรคสำคัญหนึ่งก็คือต้นทุนในการดำเนินการ ทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนา โครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

โดยผลการสำรวจสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต มีแผนจะนำคาร์บอนเครดิตประเภทพลังงานทดแทนออกขายในตลาด ขณะเดียวกันคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ที่มีราคาสูงจะมีออกขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามีแนวโน้มจะนำเครดิตไปใช้สำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองมากกว่า และมิติด้านราคา พบว่าผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิตยินดีที่จะขาย มีแนวโน้มสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะซื้อในทุกกลุ่มประเภทโครงการ 

ขณะที่ด้านมาตรการสนับสนุน พบว่า ควรมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วน ผ่านการสนับสนุนผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งต้องการความรู้เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขาย และส่วนที่ 2 การพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เทียบเท่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดที่เป็นกลุ่ม SMEs ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือทางการเงิน และสร้างแรงจูงใจโดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้พัฒนาโครงการและมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจมากขึ้น

TAGS: #KBank