พลังงานเดินหน้ารื้อโครงสร้างภาษีน้ำมันหวังกดให้ต่ำลงสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เล็งออกกม.รองรับตั้งเรคกูเลเตอร์ดูแลราคาให้เหมาะสมไม่สร้างภาระให้ประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายการดูแลราคาน้ำมันว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่จัดอยู่ในขณะนี้สูงเกินไปไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสร้างภาระให้กับผู้ใช้ โดยเตรียมออกกฏหมายฉบับใหม่เพื่อดึงอำนาจมาให้กระทรวงพลังงานสามารถกำหนดเพดานอัตราภาษีน้ำมัน โดยจะยกเลิก พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา การดูแลราคาน้ำมันใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาเดียวในการอุดหนุนราคา ซึ่งกรณีของน้ำมันดีเซล มีโครงสร้างภาษีที่จัดเก็บอยู่รวม 6.50 บาท/ลิตร จากราคาขายปลีกอยู่ที่ 33 บาท เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ คือ สิงคโปร์ จัดเก็บอยู่ 5.50 บาท/ลิตร และเวียดนาม จัดเก็บอยู่ 1.70 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศเหล่านี้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทยหลายเท่า แต่ยังเก็บภาษีที่ต่ำกว่า
“การดึงอำนาจมาให้พลังงานกำหนดเพดานภาษีเอง จะดำเนินการผ่านกลไกของคณะกรรมการ ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธาน โดยคาดว่าร่างกฏหมายใหม่จะเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้การดูแลราคาน้ำมันในประเทศมีความเหมาะสมมากขึ้น จากเดิมที่การเก็บภาษีน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศแต่จากนี้ไปต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและการเงินการคลังของประเทศควบคู่กันไป โดยเพดานภาษีน้ำมันจะต้องปรับขึ้นและลงได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา”
อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้การดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรยังต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯดูแลไปก่อน ซึ่งยังสามารถดูแลได้ แม้จะมีภาระหนี้สะสม 1.11 แสนล้านบาท