EXIM BANK เสนอขาย Blue Bond สกุลบาทครั้งแรก ระดมทุนสนับสนุนธุรกิจอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและ Blue Economy พัฒนาระบบนิเวศที่ยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำ
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแสดงความยินดีกับนายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ประธานกรรมการกำกับความเสี่ยง EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พร้อมด้วยนายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) นางสาวปภากร รัตนเศรษฐ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน นายโกสินทร์ พึงโสภณ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสภาคการเงิน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และผู้แทนกลุ่มนักลงทุนและลูกค้า EXIM BANK ในงานแถลงข่าวความสำเร็จการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ทรัพยากรทางทะเล) (Blue Bond) โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยออก Blue Bond สกุลบาท อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่ง ADB เป็นที่ปรึกษาการจัดทำ และให้การรับรองการออก Blue Bond โดย DNV (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จาก Fitch Ratings สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคงของ EXIM BANK เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อของธนาคารให้แก่ธุรกิจที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ตอบสนองวิสัยทัศน์ประเทศไทย “IGNITE THAILAND” และนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มีหมุดหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดยให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมครบทุกมิติ รวมถึงทรัพยากรทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรที่หลากหลาย ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนสำคัญของโลก การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวจึงไม่อาจมองข้ามการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ได้ เพื่อดำรงรักษาที่อยู่อาศัยของประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคน สร้างการจ้างงานมากถึง 820 ล้านคนในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ 80% ของปริมาณการค้าโลกเป็นการขนส่งทางทะเล UNCTAD จึงประเมินค่า Blue Economy ของโลกอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ World Economic Forum คาดการณ์ว่า โลกจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (SGD ที่ 14) ได้ต้องใช้เงินลงทุนด้าน Blue Finance มากถึงราว 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในช่วงปี 2558-2562 มีเงินลงทุนจริงไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นั่นหมายถึงยังมี GAP อีกมากถึงเกือบ 165,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ข้อมูลจาก ADB ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลและที่เกี่ยวเนื่องมากถึง 30% ของ GDP ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานถึง 26% ของการจ้างงานรวม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนมาโดยตลอดผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การออก Blue Bond ของ EXIM BANK ในครั้งนี้นับเป็นนวัตกรรมทางการเงินสีเขียวที่ช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียว ผนวกกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งบนผืนดินและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย “IGNITE THAILAND” โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็น Financial Hub เพื่อความยั่งยืน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ยังคงเดินหน้าสู่บทบาท Green Development Bank เสริมสร้างระบบนิเวศของภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยให้ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอด Supply Chain ครอบคลุมเศรษฐกิจทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวม 11,500 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โดย Blue Bond ที่ EXIM BANK เสนอขายวงเงินรวม 3,000 ล้านบาทได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่จนสามารถเสนอขายได้เต็มจำนวนวงเงิน มียอดจองซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินที่เสนอขาย การระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี เป็นต้น
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Economy) ภายใต้แนวทาง Sustainability Linked Loan (SLL) ประกอบด้วยสินเชื่อหมุนเวียนและสินเชื่อระยะยาวสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.85% ต่อปี วงเงินอนุมัติสูงสุด 200 ล้านบาท ทั้งนี้ EXIM BANK มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจากราว 37% ในปัจจุบัน เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2570
“Blue Bond ครั้งนี้มิใช่เพียงเครื่องมือทางการเงิน แต่เป็นกลไกความร่วมมือและความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินสู่มหาสมุทร ร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกเดือด และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน” ดร.รักษ์ กล่าว