โฆษกรัฐบาล เผย บริษัทเอกชนต่างชาติลงทุน Data Center และ Cloud Service ในไทย พุ่ง 37 โครงการ มูลค่า 98,539 ล้านบาท หนุนยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุน Data Center ในประเทศไทย โดยเชื่อมั่นว่าการลงทุนในโครงการ Data Center และ Cloud Service ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรฐกิจดิจิทัล จะช่วยต่อยอดพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค และเป็นที่จับตามองของโลก พร้อมทั้งเป็นโอกาสสนับสนุนไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ของวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขานรับต่อยอดการหารือของนายกรัฐมนตรีกับเอกชนรายใหญ่ระดับโลกซึ่งแสดงความสนใจการลงทุนในไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย จากการต่อยอดการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับเอกชนรายใหญ่ ทำให้พบว่าโครงการ Data Center และ Cloud Service ที่ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันรวมถึง 37 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายรายที่ได้เข้ามาลงทุนโครงการ Data Center เช่น Amazon Web Service จากสหรัฐอเมริกาลงทุนสร้าง Data Center 3 แห่ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาทในเฟสแรกของประกาศการลงทุนสร้าง Data Center ในไทยเป็นจำนวนมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาทภายในปี 2580 Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท และ Telehouse จากญี่ปุ่นลงทุน 2,700 ล้านบาท เป็นต้น และ Cloud Service อาทิ Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการ์ณว่าในปี 2567 มูลค่าตลาด Data Center ของไทยจะมีแนวโน้มเติบโตประมาณร้อยละ 24 และมูลค่าบริการ Public Cloud จะขยายตัวที่ร้อยละ 29
ทั้งนี้ BOI เชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพ และจุดแข็ง 5 ประการ ที่ทำให้ผู้ให้บริการ Data Center และ Cloud Service เชื่อมั่นให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่บริษัทชั้นนำระดับโลกเลือกเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน ซึ่งได้แก่ 1) ทำเลที่ตั้งของไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้ (Connecting Hub) 2) มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง เสี่ยงภัยต่อธรรมชาติต่ำ เป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศและกฎระเบียบด้านดิจิทัลมีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) 3) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาดที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีศักยภาพสามารถรองรับการส่งข้อมูลในปริมาณสูง 4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง คนไทยมีทักษะในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ต ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล ทำให้ความต้องการยกระดับสู่ยุคดิจิทัลสูง 5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินนโยบายเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และการที่บริษัทใหญ่ระดับโลกประกาศร่วมลงทุนในโครงการ Data Center และ Cloud Service ของไทย เป็นอีกหนึ่งการยืนยันถึงโอกาสของประเทศไทยในการเป็น Digital Economy Hub ทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองในเวทีการลงทุนระหว่างประเทศ พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ และอุตสาหกรรมอนาคต” นายชัย กล่าว