ไฮฟ์กราวนด์ ร่วมกับ ยนต์ผลดี ลุยโมเดล Agritech นาข้าวอัจฉริยะ ปั้นคนเกษตรพันธุ์ใหม่ สร้างเกษตรมูลค่าสูง
ดร.ศิริชัย พรสรายุทธ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด เปิดเผยว่าร่วมกับ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสีข้าวครบวงจร พัฒนาโมเดลสาธิตนาข้าวอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ Agritech เพื่อเป็นโอกาสและทางรอดในการเพิ่มผลผลิตนาข้าวด้วยการต่อยอดเกษครกรไทยแบบดั้งเดิมกับหลักการบริหารธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่ผู้นำเทคโนโลยีการเกษตรของโลก
โดยหนึ่งในแนวทางเทคโนโลยีภายใต้โมเดลธุรกิจฯ ดังกล่าว ยังตรียมนำโดรน Vespa Hex เข้ามาวิเคราะห์พื้นที่ ร่วมวางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด และโดรน TIGERDRONE มาดูแลจัดการด้านการพ่นปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืช ตามระยะเวลาการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในปีแรก จะเริ่มด้วยการสำรวจระดับพื้นที่ เพื่อสร้างฐานข้อมูล หลังจากนั้นใช้โดรนฉีดพ่นปุ๋ยตามระยะการปลูก และช่วยในการกำจัดศัตรูพืช ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนในภาคการเกษตรซึ่งจะช่วยให้การทำนาประหยัดและง่ายขึ้น ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินการแปลงสาธิต จะนำโดรนออกไปให้บริการชุมชนในพื้นที่ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“โมเดลนาข้าวอัจฉริยะ เข้ามาแก้เพนพอยต์ อุตสาหกรรมการเกษตรหลังพบว่ากว่า 50% ของประชากรไทยทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาการเกษตรเผชิญอุปสรรคด้านสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพลดลง ส่งผลให้การเกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน หรือ Agitech กลายเป็นโอกาสและทางรอด” ดร.ศิริชัย กล่าว
โดยโมเดลฯ ดังกล่าวนำร่องปีแรกบนเนื้อที่ 35 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองกรด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเปลี่ยนประสบการณ์ให้เกษตรกร ตั้งเป้ามีผู้ศึกษาเข้าชมงาน เรียนรู้ ผ่านโมเดลสาธิตนาข้าวอัจฉริยะกว่า 750 ครอบครัว แบ่งเป็นเกษตรกรที่เข้าศึกษาดูงาน 250 ครอบครัว และให้บริการชุมชนด้วยไทเกอร์โดรน 500 ครอบครัวในปีแรก
ดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้อำนวยการหลักสูตร การบริหารจัดการโรงสีข้าวทันสมัย และ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมข้าวให้มีมูลค่ามากขึ้น คือวัตถุดิบข้าวเปลือกที่มีคุณภาพจากเกษตรกร ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับความแม่นยำด้านการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณสูง คุณภาพดี ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด จำนวน 2,410,166 ไร่ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกข้าว จำนวน 97,873 ครัวเรือน จึงเป็นพื้นที่สำคัญและเหมาะสมสร้างโมเดลนาสาธิต
“ความร่วมมือนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ก้าวข้ามอุปสรรคการทำการเกษตรแบบเดิมที่แปรผันไปตามสภาพอากาศ ไปสู่การทำงานเกษตรแม่นยำสูง เป็นการเกษตรมูลค่าสูง สร้างความมั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจประเทศไทย รักษาความเป็นผู้นำด้านการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรคุณภาพสูงอันดับต้น ๆ ของโลก พร้อมทั้งดึงเอากลุ่มคนรุ่นใหม่ ลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านเกิด ช่วยกันต่อยอดอาชีพเกษตรกร ด้วยการผสานองค์ความรู้ดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีและหลักการบริหาร สร้างนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนประเทศก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเกษตรของโลก” ดร.กานต์ กล่าว