ทีดีอาร์ไอ ชี้ 16 ปี เสียค่าพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนกว่า 5 แสนล้าน ห่วงตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกินจริง ซ้ำเติมต้นทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินจำเป็น
ความพยายามของรัฐบาลในการดูแลอัตราค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยจนถึงสิ้นปี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งที่จริงค่าไฟงวดนี้ต้องปรับขึ้นสูงสุดแตะหน่วยละ 6 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซุกภาระหนี้ก้อนโตไว้
เพราะท้ายสุดค่าไฟฟ้าที่ถูกเบรคไว้ ไม่ได้ไปไหน แต่โยนภาระให้กับ 2 หน่วยงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ที่ และบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาช่วยดูแลต้นทุนเชื้อเพลิง แต่จะถูกคำนวณกลับเพื่อทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอนาคต
ปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทย มาหลายองค์ประกอบ แต่มี 2 ส่วนที่สำคัญคือ 1.ค่าไฟฟ้าฐานที่ปรับทุกๆ 3-5ปี คำนวณจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง การจำหน่าย และ 2.ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)ที่ปรับทุก 4 เดือน ตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน รายใหญ่ รายเล็ก และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
รวมถึงค่าซื้อไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆโดยเฉพาะค่าความพร้อมจ่าย(Availability Payments :AP) ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
หลายคนได้ตั้งสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น นอกจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝง อย่างค่าความพร้อมจ่ายหรือ AP ตลอดจนนโยบายของการมีสำรองไฟฟ้าในระดับที่สูงเกินความต้องการใช้ในประเทศ
สำหรับค่า AP เป็นค่าใช้จ่ายของกฟผ.ที่ต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้โรงไฟฟ้าบางแห่งจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบ เป็นการจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนส่งไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ซึ่งทั้งหมดจะถูกนับเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ
ปัจจุบันการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนไปแล้ว มีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง ส่งผลให้ต้องมีสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ มารองรับเพื่อรักษาสำรองไฟฟ้าให้เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ทางสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีวิเคราะห์ถึงตัวเลข คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในร่างแผน PDP 2024 พบว่าตัวเลขที่นำมาใช้คาดการณ์ไม่สะท้อนสภาวะที่แท้จริง เช่น ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใช้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นน่าจะสูงเกินจริง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง กำลังการผลิตรวมกันถึง 6,300 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปัจจุบันไทยมีโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยประมาณครึ่งหนึ่งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด
ทั้งนี้การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงกว่าความต้องการใช้จริง นั้นส่งผลให้ 16 ปีที่ผ่านมา กฟผ.ต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายประมาณ 5.33 แสนล้านบาท ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายนี้สุดท้ายจะถูกส่งผ่านมายังประชาชนในรูปของค่าไฟฟ้า
ขณะที่ประเด็นการปรับหลักเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับ (LOLE) 0.7 วันต่อปีในแผน PDP ฉบับใหม่ ที่นำมาใช้แทนปริมาณไฟฟ้าสำรอง เป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป โดยโอกาสการเกิดไฟดับที่สูงที่สุดอยู่ที่ปี 2032 ที่ 0.68 วันต่อปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับทั้งแผนที่ 0.7 วันต่อปี เพราะจะทำให้เกิดการสำรองไฟฟ้าเพิ่ม กระทบต่อค่าไฟในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตามกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่า ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งของ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 53,868 เมกะวัตต์ โดยตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 34,826 เมกะวัตต์ สะท้อนว่ากำลังการผลิตไฟฟ้ายังเกินความต้องการอยู่มาก
ในขณะที่แผน PDP ฉบับใหม่ ช่วงปลายแผนปี 2580 ไทยจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 112,391 เมกะวัตต์ และนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินความจำเป็นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นภาระในค่าไฟฟ้าฐานของประเทศ
มองในระยะยาว รัฐบาลควรชั่งใจในเรื่องต้นทุนแฝงที่เกิดขึ้นในค่าไฟฟ้าทั้งค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้มีการผลิตจริง รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศให้เหมาะสม