เงินเฟ้อ ก.ค.  0.83%  บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ตามปัจจัยราคาน้ำมัน-อาหารขยับ

เงินเฟ้อ ก.ค.  0.83%  บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ตามปัจจัยราคาน้ำมัน-อาหารขยับ
สนค.คาดไตรมาส 4 เงินเฟ้อขยับมากขึ้น จากราคาดีเซลปีนี้แพงกว่าปีก่อน แต่ยังไม่ปรับเป้าหมายกำหนดไว้ที่ 0-1%  ขณะที่แจกเงินดิจิทัลไม่ทำสินค้าแพง แค่เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 108.71 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.82 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.83 (YoY)  โดยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่ง ผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.- ก.ค.) สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (AoA)

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.27 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่  กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) กลุ่มผลไม้สด กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เป็นต้น ขณะที่สินค้าหลายรายการราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า น้ำมันพืช มะนาว กระเทียม และไก่ย่าง เป็นต้น ด้านกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน)

ส่วนสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู สบู่ถูตัว ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.2567 คาดจะใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ 1. ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2. ราคาเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอุปทานเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3. ราคาผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ 4. ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง โดยเดือนสิงหาคม 2566 ราคาอยู่ที่ประมาณ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ วันที่ 30 ก.ค. 2567)

 

สำหรับปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2. ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบินตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 3. ราคาผลไม้ปรับตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ

 

ทางกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง โดยเงินเฟ้อไตรมาส 4 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจัยราคาน้ำมันดีเซลเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ยังมีมาตรการดีเซล 30 บาทแต่ขณะนี้อยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร

ส่วนนโยบายการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาทที่จะออกมาไม่น่าจะมีผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ไม่ได้มีผลต่อต้นทุนสินค้า ในทางกลับกัน น่าจะมีการแข่งขันทำโปรโมชันลดราคามากกว่า

 

TAGS: #สนค. #เงินเฟ้อดีเซล #30 #บาท #แจกเงินดิจิทัล