‘จุดกำเนิด’ ทุนจีนบุกไทย ตามรอยหนัง-กำแพงภาษี FTA กับโอกาสคนจีนอยู่ที่ไหนตลาดอยู่ที่นั่น

‘จุดกำเนิด’ ทุนจีนบุกไทย ตามรอยหนัง-กำแพงภาษี FTA กับโอกาสคนจีนอยู่ที่ไหนตลาดอยู่ที่นั่น
‘TA Law Firm' สแกนทุนจีนบุกไทยหนักต่อเนื่อง จากช่องว่างต้นทุนส่งออกตลาดสหรัฐฯ-ยุโรปในอัตราภาษีต่ำกว่ามากหากใช้ฐานผลิตอาเซียน และนักท่องเที่ยวจีนทะลักไทยที่กลายเป็นขุมทรัพย์กำลังซื้อของคนชาติเดียวกัน

ธนกฤต ไทยมี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอ ลอว์ เฟิร์ม จำกัด (TA LAW  Firm) ผู้ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย กล่าวถึงภาพรวมนักลงทุนสัญชาติจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถึงในปัจจุบัน มาจาก 2 สถานการณ์หลัก คือ

หนึ่ง การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยที่ขยายตัวมากขึ้นตลอดช่วงก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา  (ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุในปี 2562 มีนักเดินทางจีนอยู่ที่ 11 ล้านคน) ปัจจัยหลักมาจากอิทธิพลของภาพยนตร์จีน ‘แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์’ (Lost In Thailand) ภาพยนตร์ตลกที่ใช้ฉากหลักประเทศไทยในการถ่ายทำ และประสบความสำเร็จการฉายอย่างสูงในจีนเมื่อปี 2555 จนกลายเป็นกระแสให้ขาวจีนวางจุดหมายการท่องเที่ยวพุ่งตรงมาไทย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  

“จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลมาไทยมากขึ้นในทุกๆ ปี ที่นอกจากจะเป็นกำลังซื้อใหญ่ของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยแล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ของคนจีนที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสินค้าบริการต่าง ๆ อย่างร้านอาหารจีน หรือ อื่นๆ ที่เข้ามาไทยต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของคนในชาติเดียวกัน ที่ขยายตัวมาจนถึงปัจจุบันด้วย” ธนกฤต กล่าว

คนจีนอยู่ที่ไหน ตลาดอยู่ที่นั่น

ขณะที่การเข้ามาทำธุรกิจในไทยของคนจีนยุคใหม่เมื่อราว10 ปีก่อน จะเข้ามาในลักษณะศึกษาช่องทางในการลงทุนก่อนปรับมาสู่รูปแบบนักลงทุนทั้งรายย่อย หรือ การหาพันธมิตรการทำธุรกิจ คือ นำเงินมาทำธุรกิจ บริการต่าง ๆ  หรือการเปิดหน้าร้านตามที่กฎหมายไทยอนุญาต โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนชาวต่างด้าว 49% และ 51% เป็นของคนท้องถิ่น ตามลำดับ

จากแนวโน้มของกำลังซื้อคนจีนในฐานะนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลักดันให้ตลาดสินค้าบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดความต้องการต่อเนื่องตามมาในไทย อย่างอสังหาริมทรัพย์ ที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือสิทธิ์ในการถือครองคอนโดมิเนียมทั้งในรูปแบบการถือครองกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ (freehold) ได้นั้น ตามกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ว่าสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 49% ของเนื้อที่ขายของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น ๆ

และ การถือครองกรรมสิทธิ์แบบเช่า (leasehold) ภายใต้ชื่อของตัวเองได้ โดยไม่ได้มีการจำกัดสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ ซึ่งอัตราการให้เช่าสูงสุดตามกฎหมายในประเทศไทยคือ 30 ปี

นอกจากนี้ ยังมีวิธีถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เช่น การถือครองโดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย หรือ การทำสัญญาเช่าที่ดินจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น หรือการเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้นได้โดยการยื่นขอใบอนุญาตการก่อสร้างภายใต้ชื่อของตัวเอง เพื่อขอสิทธิ์ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างภายใต้การเช่าที่ดิน เป็นต้น

เป็นคำตอบที่ว่า ทำไม? คนจีนได้เข้ามาอยู่อาศัยในคอนโดมีเนียม ไทยเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนย่อมๆ ในบางโครงการฯของไทย (กองบรรณาธิการ The Better)

ธนกฤต กล่าวว่า “ข้อกฎหมายฯคร่าวๆดังกล่าว เสมือนเป็นอีกหนึ่งช่องทางดึงการลงทุนเข้ามาในไทยจากชาวต่างชาติที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ชาวจีนเท่านั้น” พร้อมเสริมว่า “ส่วนความกังวลในเส้นทางธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาไทยว่ามีความถูกต้องหรือไม่นั้น อย่างค้าปลีกค้าส่งในย่านสำเพ็งที่หลายคนกังวลว่าเป็นทุนใหญ่จากจีนเข้ามาทำตลาดในไทยแล้วสร้างความได้เปรียบจากต้นทุนที่ต่ำกว่าอาจทำให้ธุรกิจท้องถิ่นในไทยอยู่ลำบากนั้น ซึ่งหากเกิดความสงสัยก็สามารถใช้ข้อกฎหมายเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเข้ามาได้ว่าจัดตั้งถูกต้อง มีการเสียภาษีตามกฎหมาย ด้วยหรือไม่ได้เช่นกัน”

ฐานผลิตอาเซียน ‘คีย์’ ต้นทุนส่งออกต่ำ

ธนกฤต เสริมต่อถึงสถานการณ์ที่สอง จากการเข้ามาของนักลงทุนจีนองค์กรข้าชาติระดับโลก หรือในรูปแบบธุรกิจประเภทต่างๆ ที่เข้ามาในไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในภูมิภาคอาเซียน ของกลุ่มฉางอาน (ChangAn) ทั้งเพื่อทำตลาดในไทยและส่งออกไปในตลาดประเทต่างๆ นั้น รวมถึงในอนาตคาดว่าจะยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามมาตั้งสำนักงานในไทยอีก อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์ไฟฟ้า แบทเตอรี่อีวี ฯลฯ

โดยกลุ่มธุรกิจทุนจีนเหล่านี้ มองประเด็นการทำตลาดส่งออกจากสิทธิประโยชน์ทางการค้าเป็นหลักมากกว่า หลังจีนโดนกำแพงภาษีที่ปรับสูงขึ้นทั้งจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เรียกเก็บอัตรา 25% ในปัจจุบัน  และอาจเตรียมปรับขึ้นเป็น 60% ตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงการเลือกตั้ง 2024 US Elections หากทรัมป์ ได้รับชัยชนะ และการเรียกเก็บภาษีรถยนต์อีวี 100% ในเดือนส.ค.นี้ ส่วนตลาดสหภาพยุโรป หรือ อียู ในปัจจุบันจุบันโดนกำแพงภาษีนำเข้าอัตรา 0-17% ยังไม่รวมล่าสุดหลังอียู ได้ประกาศปรับอัตราภาษีรถยนต์อีวีจากจีน 17.4-36.7% มีผลไปเมื่อต้นเดือน ก.ค. ปีนี้ ที่ผ่านมา

ธนกฤต กล่าวว่า “การเข้ามาลงทุนในไทยของจีนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเอฟทีเอจีน-อาเซียน-ไทย และการทำตลาดในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้จีนมีต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ฐานผลิตในประเทศจีนเองที่โดนกำแพงภาษีสูงมากกว่า" พร้อมกล่าวต่อว่า "การใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวีของจีน คล้ายคลึงกับโมเดลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปของญี่ปุ่นเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ในรอบนี้มีความกังวลและน่าเป็นห่วงมากกว่าคือ ธุรกิจของจีนมาพร้อมกับแรงงานคนจีนด้วยกัน ต่างกับธุรกิจของญี่ปุ่นที่ใช้แรงงานท้องถิ่นในประเทศไทย”

‘อินเดีย’ จะมาตามรอยจีน

ธนกฤต เสริมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจยังขยายวงกว้างไปยังกลุ่มนักลงทุนใหม่อย่าง ‘อินเดีย’ ที่คาดว่าจะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามโมเดลเดียวกับประเทศจีน จากจุดเริ่มต้นการเติบโตเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในกลุ่มนักเดินทางชาวอินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่นกัน

“หลังจากนี้ในอนาคต มองว่า อินเดียจะเข้ามาทำตลาดในไทยเช่นเดียวกับธุรกิจทุนจีนที่เข้ามาก่อนหน้านี้” พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุนจีนรายย่อยรวมไปถึงนักท่องเที่ยวอาจเริ่มถดถอยไปจากกระแสข่าวความไม่ปลอดภัยในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาไทยทั้งจากการลอบทำร้ายจากคนในชาติเดียวกัน  ซึ่งถูกกระจายวงกว้างอย่างรวดเร็วในสื่อโซเชียลของจีนที่ค่อนข้างมีผลกระทบพอสมควรกับการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนจีนไม่กล้าจะเที่ยวไทยเท่ากับในอดีตแล้ว”  ธนกฤต กล่าวทิ้งท้าย

ปี67 ปรับแผน โฟกัสกลุ่มนักลงทุน

ธนกฤต  กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ยังเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจบริษัทด้านกฎหมายของไทยเช่นกัน จากความต้องการของกลุ่มชาวจีน ทั้งที่ต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในไทยเพื่อทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง ทีเอ ลอว์ เฟิร์ม เองก็มองเห็นช่องว่างทางธุรกิจด้วยการจัดตั้งธุรกิจที่ปรึกษาทางกฎหมายขึ้นโดยร่วมกับพันธมิตรคนไทยและชาวจีน ซึ่งอย่างหลังจะเป็นผู้ดำเนินการด้านการตลาด เพื่อรองรับความต้องการผู้ใช้บริการแก่ชาวต่างชาติ แบบครบวงจร

โดยมีบริการครอบคลุม ทั้งด้านเพื่อการขออยู่อาศัยในไทย อาทิ การขอวีซ่า การขอใบอนุญาตการทำงาน ไปจนถึงการทำธุรกิจต่างๆ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ไปจนถึงให้คำปรึกษาหากมีกรณีข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดขึ้นในไทย เป็นต้น ปัจจุบันมีกสัดส่วนลูกค้าชาวจีน 90% และ กลุ่มประเทศยุโรปและคนไทย สัดส่วน 10%

ธนกฤต กล่าววว่า “บริษัทฯ ตั้งขึ้นในปี 2564 ที่ผ่านมา ใช้ทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานร่วม 30 คนแบ่งเป็นนักกฎหมายราว 10 คน”  พร้อมเสริม “ในกรณีต้องการรับคำปรึกษาทางกฎหมายบริษัทฯ จะคิดอัตราค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทถึง 6,000 บาทต่อชั่วโมง”

ขณะที่ในปี 2567 บริษัทมีแผนปรับแนวทางการให้บริการ โดยจะมุ่งให้ความสำคัญในลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ นักลงทุนเพื่อรองรับโอกาสการขยายเข้ามาลงทุนทุกขนาดของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยมากขึ้น จากปัจจัยดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คาดผลักดันให้ธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปี2566 ที่ผ่านมา และยังสอดคล้องกับแผนดำเนินงานในภาพรวมของกลุ่มทีเอ ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนธุรกิจ คือ ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย (TA Law Firm) ให้บริการด้านขนส่ง (TA Express) และบริษัทแม่ (TA Group)

TAGS: #ทุนจีน #นักท่องเที่ยวจีน #ธุรกิจจีน