ย้อนเส้นทางการเดินรถไฟจากสถานีหัวลำโพงสู่กรุงเทพอภิวัฒน์’

ย้อนเส้นทางการเดินรถไฟจากสถานีหัวลำโพงสู่กรุงเทพอภิวัฒน์’
รีวิวกิจการรถไฟของไทย ที่มีอายุร่วม 133 ปีผ่านร้อนหนาวประวัติศาสตร์เมืองไทยมาหลายยุคสมัย จากสถานีหัวลำโพงสู่กรุงเทพอภิวัฒน์ สู่ศูนย์กลางเชื่อมโยงคมนาคม-เศรษฐกิจระดับภูมิภาค

สถานีกรุงเทพอ๓ิวัฒน์

ภาพ : อานันท์ ชนมหาตระกูล

 

19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ ‘สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์’ (ชื่อเดิมสถานีกลางบางซื่อ) เปิดให้บริการรถไฟทางไกล เป็นเที่ยวแรกในเวลา 13.10 น. เดินทางจาก กรุงเทพฯ ไป สุไหงโก-ลก

 

โดยมีขบวนรถไฟทางไกลทั้งหมด52 ขบวน ที่ย้ายการให้บริการมาจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

 

ประกอบด้วย สายเหนือ14 ขบวน สายอีสาน 18 ขบวน และสายใต้ 20 ขบวน  ซึ่งจะเดินรถโดยใช้เส้นทางเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง)

 

ขณะที่สายเหนือและสายอีสาน จะใช้เส้นทางยกระดับตั้งแต่ช่วงสถานีดอนเมือง ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีทางเข้าใช้บริการรถไฟทางไกลจะอยู่ที่ประตู 4 มีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการ 10 ช่อง 

 

สำหรับสถานีฯแห่งนี้ ยังเป็น ‘สถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้’ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี (เริ่มก่อสร้างปีพ.ศ. 2556-2564) มี 26 ชานชาลา เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 24ชานชาลา และ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 ชานชาลา ใช้งบประมาณในย่านสถานีทั้งสิ้น 34,142 ล้านบาท ออกแบบภูมิสถาปัตย์โดย บริษัท ดีไซน์ คอนเซปท์ จำกัด

 

โดย ขบวนรถสายเหนือ และสายอีสาน ขาออก อยู่ที่ชานชาลา 1-2 และขาเข้า อยู่ที่ชานชาลา 5-6 ส่วนสายใต้ ขาออก อยู่ที่ชานชาลา 7-8 และขาเข้า อยู่ที่ชานชาลา 11-12

สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์

ภาพ : อานันท์ ชนมหาตระกูล

 

พร้อมให้บริการประชาชน หมื่นคนต่อวัน 

 

การรถไฟฯ คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คนต่อวัน ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รถเข็นสัมภาระ ลานจอดรถที่สามารถรองรับได้มากกว่า 1,700 คัน

 

รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบ ขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และในอนาคตจะเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน

 

นอกจากนี้ได้ร่วมกับ ขสมก. จัดรถ Shuttle Bus ให้บริการรับส่งผู้โดยสารฟรี เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งแต่เวลา 04.30 - 23.00 น. เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สถานีรถไฟหัวลำโพง

ภาพ : derbysulzers

 

สถานีหัวลำโพง

ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย

ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

กิจการรถไฟไทยผ่านมาแล้ว 133 ปี

 

หากย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้น วิกีพีเดีย ระบุกิจการการรถไฟของไทย จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟตามแบบสากล เพื่อความสะดวกในการปกครองราชอาณาจักรสยาม และเชื่อมต่อราษฎรที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวง

 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2430 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ทำการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา และมีทางแยกตั้งแต่เมืองลพบุรี - เชียงใหม่ 1 สาย จากเมืองอุตรดิตถ์ - ตำบลท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขงอีก 1 สาย และจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเชียงราย - เชียงแสนหลวงอีก 1 สาย

 

โดยสำรวจให้แล้วเสร็จเป็นตอนๆ รวม 8 ตอน ในราคาค่าจ้างโดยเฉลี่ยไม่เกินไมล์ละ 100 ปอนด์ หรือประมาณ 24,500 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430

 

ถัดมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 ในหลวงรัชกาลที่5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรก ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการและถือเป็นจุดกำเนิดกิจการรถไฟของไทยในยุคแรก

 

ล่วงมาเกือบ20 ปี ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่5 (ปีพ.ศ. 2453)เมืองพระนคร ได้ก่อสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพ) พร้อมเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459

 

ถึงปัจจุบัน กิจการรถไฟของไทย ภายใต้การดำเนินกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการสะท้อนผ่านผลงานชิ้นประวัติศาสตร์อย่าง สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมวางเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมผ่านเศรษฐกิจใหญ่สุดระดับภูมิภาค   

 

TAGS: #สถานีรถไฟหัวลำโพง #สถานีรถไฟกรุงเทพอ๓ิวัฒน์ #กิจการรถไฟไทย #การรถไฟแห่งประเทศไทย #รฟท.