สภาพัฒน์ เผยจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% จับตา ดิจิทัลวอลเล็ต

สภาพัฒน์ เผยจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% จับตา ดิจิทัลวอลเล็ต
สภาพัฒน์ แถลง จีดีพี ไทย ไตรมาส2/2567 ขยายตัว 2.3% คาด ทั้งปี 67 จะโต 2.3-2.8% พร้อมจับตาโครงการเติมเงิน10,000บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งแหล่งเงิน-ระบบจ่ายเงิน

นายดนุชา  พิชยนันท์  เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.แถลง “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567” 

นายดนุชา เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัวที่ 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 67 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ขยายตัวจากไตรมาสแรก 0.8% รวมครึ่งแรกของปี 2567  เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% 

โดยเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงค์จาการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ติดลบ 6.2%  และภาคเกษตรของไทยที่ติดลบ  1.1% เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงหลายชนิด   ขณะที่กลุ่มก่อสร้างติดลบ 5.5% 

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.07% สูงกว่า 1.01% ในไตรมาสก่อนและสูงกว่า 1.06% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 93.7 พันล้านบาท และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.54 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.5% ของ GDP

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว  การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการโลก 

นายดนุชา กล่าวถึงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนโครงการหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อ ในเรื่องของเงื่อนไขโครงการเดิม จะมี 2 เรื่องที่น่ากังวล คือ ในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน จากงบประมาณปี 67 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 68  ที่ ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะต้องดูว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง และอีกหนึ่งเรื่องคือ ระบบของการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย และสอบถามความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ

แต่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการโครงการนี้ต่อ รัฐบาล
จะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้น้อย ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 1  มาตรการ แต่ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการที่รัฐบาลจะออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลจะ ต้องดูทรัพยากรที่มีเครื่องมือรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การดำเนินงานทำได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องดูช่วงเวลาและทรัพยากร ( เงิน) ที่มี ซึ่งส่วนหนึ่งจะต้องมีมาตรการออกมาช่วงแรก และจะต้องใช้งบประมาณปริมาณหนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะต้องดูด้วยว่าในช่วงถัดไปมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ ซึ่งด้วยเรื่องของทรัพยากรที่มีจำกัดรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องหารือกัน ส่วนรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรนั้นยังไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา


ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาหนี้เสีย จะต้องพูดคุยกันในระดับนโยบาย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงคลัง โดยจะหามาตรการแบบมุ่งเป้ามากขึ้น ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในระดับหนึ่งแล้ว และต้องรอความชัดเจนอีกไม่นาน

TAGS: #สภาพัฒน์ #เศรษฐกิจไทย #จีดีพี #GDP