ปตท.ปรับพอร์ตธุรกิจดึงพันธมิตรเสริมทัพเติบโตยั่งยืน

ปตท.ปรับพอร์ตธุรกิจดึงพันธมิตรเสริมทัพเติบโตยั่งยืน
‘คงกระพัน’โชว์แผนกลยุทธ์ใหม่เล็งลดสัดส่วนหุ้นกลุ่ม Downstream มองหาพันธมิตรแข็งแกร่งเสริมธุรกิจเติบโตในระดับโลก เตรียมทบทวนโรงงานผลิต EV หวังปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นสถานีชาร์จ

ดร.คงกระพัน  อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD”

 

ทั้งนี้จะเร่งสร้างความแข็งแรงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็น Core Business ของ ปตท.ซึ่งที่ผ่านมา ทำได้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ โดยต้องดำเนินการควบคู่กับไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิต ร่วมกับ Partner มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

 

ขณะที่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้ามี Mandate ให้เสริมสร้าง Reliability และ Decarbonize ให้กับกลุ่ม ปตท.สำหรับธุรกิจ Downstream นั้น จะต้องปรับตัว โดยหา Partner ที่มีประสบการณ์เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy ร่วมกันเพิ่มเติม ในขณะที่ปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงในอัตราที่เหมาะสม

 

ด้านธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกนั้นจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance และ Asset Light รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยจะประเมินธุรกิจนี้ใน 2 มุมคือ 1. ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractive) และ 2. ปตท. มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมี Partner ที่แข็งแรง

 

สำหรับแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon ดังนี้ 1. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ OR Ecosystem ที่มี Touch Point อยู่ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทบทวนโครงการผลิตรถไฟฟ้า (EV) ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างอรุณพลัส ในเครือ ปตท. กับ Foxconn จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปเนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

2. ธุรกิจ Logistics ปตท. จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ของ ปตท. และมี Captive Demand อยู่แล้ว โดยยึดหลัก Asset-light และมี Partner ที่แข็งแรง และ 3. ธุรกิจ Life Science ปตท. จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) และสร้าง Goodwill ให้กับสังคม

 

ขณะเดียวกันกัน ปตท.มีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)  โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัท ในกลุ่มให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นอกจากนี้ ปตท. ให้ความสำคัญเรื่อง Operational Excellence หรือ Opex อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งกลุ่ม อีกทั้งมุ่งเน้นเสริมศักยภาพบุคลากรและการมุ่งรักษาพื้นฐานที่สำคัญ มุ่งเน้น
ธรรมาภิบาล และการกำกับกิจการที่ดี และการมีความเป็นเลิศทางด้านการเงิน (Financial Excellence) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการประกอบธุรกิจ

ดร.คงกระพัน กล่าวถึง ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 จากผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นโดยหลักจากผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยจากธุรกิจการกลั่นที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น

 

ขณะที่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยปรับลดลง ประกอบกับมีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนและการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ที่ 0.80 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับภาษีเงินได้ ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 35,684 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563 ในวงเงินกว่า 24,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

 

“ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ยึดมั่นภารกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

 

 

TAGS: #Downstream #ปตท. #สถานีชาร์จ #EV #OCA