เอไอเอส จัดงบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ย้ำผู้นำโครงข่ายดิจิทัลยกระดับ 5 G-เน็ตบ้าน คงตำแหน่งผู้นำตลาดด้วยถือครองทุกคลื่นความถี่ ครอบคลุมทั่วไทย มองอนาคตผ่านธุรกิจบริการดิจิทัลจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมตลาดสื่อสาร
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่าบริษัทฯวางแผนดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Cognitive Tech-Co เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและคนไทยตามแผน 3 ปี ซึ่งได้ทำมา 1 ปีกว่า โดยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสิ้นปี 2567
โดยแผนดังกล่าว เพื่อเติมเต็ม ECOSYSTEM ECONOMY ของประเทศไทยให้มีอัตราการเติบโตร่วมกันไปทุกภาคส่วน ด้วยการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารให้มีความสามารถใหม่ๆ เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
“ปีนี้จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 3.6% ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเติบโต 3-5% ทุกปี เป็นโอกาสของประเทศจากหลายธุรกิจในไทยยังแข็งแรงมาก พร้อมคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีซิมการ์ดบนเครือข่ายโทรคมนาคม 800 ล้านเลขหมาย ตอนนี้มีกว่า 100 ล้านเลขหมายรวมทุกโอเปอเรเตอร์” สมชัย กล่าว
สำหรับปี 2566 บริษัทฯ วางงบการลงทุนไว้ที่ 27,000 - 30,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) จากโครงข่าย 5G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อม 5G แพลตฟอร์มเพื่อภาคอุตสาหกรรม
“ดิจิทัล เซอร์วิส” ตัวเปลี่ยนเกมเอไอเอส
ขณะที่การดำเนินธุรกิจเอไอเอส ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ
1.บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MOBILE) ขับเคลื่อนประสบการณ์และสร้างรายได้จากบริการ 5G
2.บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน (FIXED BROADBAND) ที่มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
3.ธุรกิจองค์กร (ENTERPRISER BUSINESS) เร่งการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลให้กับองค์กรธุรกิจ
4.บริการดิจิทัล (DIGITAL SERVICE) ความเชื่อมโยงบริการดิจิทัลร่วมกันระหว่างลูกค้า
โดยปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจโมบายล์ มีสัดส่วนรายได้หลักราว85% และในอีก 3กลุ่มธุรกิจที่เหลือมีสัดส่วนรวมกันราว 15% โดยใน3 ปีข้างหน้า บริษัทวางเป้าหมายปรับสัดส่วนใหม่อยู่ที่ 70% ในกลุ่มโมบายล์ และ อีก 30% ใน3 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว
สมชัย กล่าวว่าธุรกิจบริการดิจิทัล (DIGITAL SERVICE) จะถือเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของเอไอเอส ที่จะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศไทย โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็งสูงให้กับผู้ใช้งานในประเทศได้อย่างครอบคลุม
โดยบริษัทยังมุ่งดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (“TTTBB”) หรือ 3BB และหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (“JASIF”) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุนจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้ ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้เอไอเอส มีฐานผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงจำนวนสูงที่สุดราว 4.6 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นเอไอเอสไฟเบอร์ 2.2 ล้านครัวเรือน และฐานลูกค้า 3BB อีกราว 2.4 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ สมชัย ยังกล่าวต่อถึงความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) หลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างเอไอเอส ธนาคารกรุงไทย และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ (Public Hering) พร้อมอยู่ดำเนินการออกใบอนุญาต (License)เพื่อการจัดตั้งเวอร์ชวล แบงกิง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ หากสามารถจัดตั้งเวอร์ชวลแบงกิงได้ จะถือเป็นอีกหนึ่งบริการในเสาธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสของเอไอเอส ที่มีความสำคัญมากในอนาคต จากการนำจุดแข็งของทั้ง3 องค์กรมาใช้ร่วมกัน อย่างธนาคารกรุงไทย มีความเชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูลการเงิน วิเคราะห์สินเชื่อ ด้านเอไอเอส มีความพร้อมด้านโครงข่ายอัจฉริยะและฐานผู้ใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 46 ล้านราย
ส่วนกัลฟ์ มีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานและเตรียมไดเวอร์ซิฟายด์ไปสู่ธุรกิจด้านดิจิทัลด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ เอไอเอส ยังคงความเป็นผู้นำธุรกิจทั้งด้านสื่อสารโทรคมนาคมและบริการดิจิทัล ได้ในอนาคต
ย้ำ "เรายังเป็นผู้นำตลาดสื่อสารฯ"
สำหรับผลการดำเนินงานเอไอเอส ในปี 2565 บริษัทฯมีอัตราการเติบโตสวนทางกับสถานการณ์การแข่งขันในทุกมิติ ทั้งรายได้ ผลกำไร และจำนวนลูกค้า ทำให้ปัจจุบันเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลบนโครงข่ายสื่อสาร 5G ที่เร็วและแรงที่สุด โดยครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเป็นอันดับ 1 มากกว่า 87%
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน แม้ว่าเอไอเอส จะไม่ใช่ผู้นำตลาดด้านฐานลูกค้าโทรศัพท์ที่มี 46 ล้านราย แต่ในแง่การถือครองคลื่นความถี่ เอไอเอสให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด ทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จากการมีคลื่น 700 MHz เพิ่มขึ้นอีก 10 MHz (Downlink 5 MHz และ Uplink 5 MHz) ทำให้ AIS มีคลื่น 700 MHz รวมเป็น 40 MHz (Downlink 20 MHz และ Uplink 20 MHz) ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ
สมชัย กล่าวปิดท้ายกับ The Better ต่อคำถามที่ว่า เอไอเอสจะกลับขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งอีกครั้งได้เมื่อไหร่? โดยคำตอบที่ได้รับคือ “ตอนนี้เราก็ยังเป็นผู้นำอยู่”