ต่างชาติขนเงินลงทุนธุรกิจสมุนไพรไทยกว่า 3.8 หมื่นล้าน

ต่างชาติขนเงินลงทุนธุรกิจสมุนไพรไทยกว่า 3.8 หมื่นล้าน
'พาณิชย์'ชี้ตลาดสมุนไพรเติบโตต่อเนื่องปี’66 สร้างรายได้รวม8.72 แสนล้าน  ขณะที่ไวรัลออนไลน์คนดัง ลิซ่า-นักกีฬาหยิบสินค้ามาใช้  เกิดแรงหนุน Soft Power

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธุรกิจสมุนไพรไทยมีความน่าสนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับมีทางเลือกในการป้องกันโรค การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพรจำนวน 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792.36 ล้านบาท, กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523.04 ล้านบาท และกลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265.44 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S 17,224 ราย ขนาดกลาง M 806 ราย และขนาดใหญ่ L 312 ราย

ทั้งนี้ธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้

รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท     เป็นกำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุน 38,707.25 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มขายปลีก/ขายส่งมากที่สุด มูลค่าการลงทุน 34,042.05 ล้านบาท  โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสมุนไพรสูงสุด 3 อันดับคือ สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 11,809.12 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร

ขณะเดียวกันเกิดปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างชาติหยิบสินค้าไทย (ยาดม) ขึ้นมาใช้งานและมีภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียไปทั่วโลก อาทิ นักร้องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ลิซ่า ลลิษา มโนบาล และล่าสุดนักกีฬายกน้ำหนักไทยที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ ดังนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็น Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยาก

นางอรมน  กล่าวถึง สถิติการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในเดือนก.ค. มีจำนวน 75 ราย แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 18 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 57 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,499 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 14 ราย เงินลงทุน 3,861 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 9 ราย เงินลงทุน 2,230 ล้านบาท และจีน 10 ราย เงินลงทุน 1,122 ล้านบาท

ส่วน 7 เดือนแรกของปี อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติฯ จำนวน 460 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 84 ราย คิดเป็น 22% เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 90,987 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 32,043 ล้านบาท คิดเป็น 54% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 117 ราย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท, สิงคโปร์ 71 ราย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 70 ราย เงินลงทุน 3,470 ล้านบาท, จีน 51 ราย เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท และฮ่องกง 35 ราย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท

 

 

TAGS: #ตลาดสมุนไพร #ไวรัลออนไลน์ #ลิซ่า #Soft #Power