ส่งออกอ่วมเดือนก.พ.ติดลบ 4.6% รับแรงกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอฉุดดีมานด์ทรุด

ส่งออกอ่วมเดือนก.พ.ติดลบ 4.6% รับแรงกดดันเศรษฐกิจโลกชะลอฉุดดีมานด์ทรุด
ภาพรวมส่งออก 2 เดือนติดลบ 4.7% สินค้าอิเล็คทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้าออเดอร์หาย หลังคู่ค้าเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสวนทางกลับมาบวก

นายสินิตย์   เลิศไกร  รมช.พาณิชย์   กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 730,123 ล้านบาทลดลงร้อยละ 4.7 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบต่อความต้องการสินค้าขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงหดตัว รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) และทองคำ มีการปรับลดลงจากปัจจัยราคาเป็นหลัก ด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกสูงยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) และเครื่องปรับอากาศ

แม้การส่งออกไปตลาดหลัก (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ยังคงหดตัว แต่การส่งออกไปตลาดเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในปี 2566 เติบโตดี โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง และอินเดีย อีกทั้งการส่งออกไปฮ่องกงที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน

อย่างไรก็ตามภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.6 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยเป็นการขยายตัวทั้งหมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.5 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 21.4 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 5.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และลาว)

การส่งออกไปยังตลาดสำคัญในภาพรวมส่วนใหญ่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น และ CLMV หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตลาดตะวันออกกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงฮ่องกงที่กลับมาขยายตัว

นายสินิตย์  กล่าวว่าแนวโน้มช่วงหลังของปีการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย

นอกจากนี้ แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์ มีแผนส่งเสริมการส่งออกในปีนี้ รวมกว่า 450 กิจกรรม เจาะตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียใต้  CLMV และจีน รวมไปถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน ซึ่งจึงมั่นใจปีนี้ ส่งออกจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% เป็นต้น

 

TAGS: #ส่งออก #เงินเฟ้อ #เศรษฐกิจโลก #สินค้าเกษตร