สถานการณ์การค้าชายแดนขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 เพื่อนบ้านนำเข้าสินค้าพลังงาน-อุปโภคบริโภคต่อเนื่อง ส่งผลไทยได้ดุลการค้า 1.72 แสนล้านบาท
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 158,101 ล้านบาท ขยายตัว 21.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการส่งออก 87,089 ล้านบาท ขยายตัว 15.5% และการนำเข้า 71,011 ล้านบาท ขยายตัว 30.2%
ทั้งนี้ไทยได้ดุลการค้า 16,078 ล้านบาท ทำให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 1,070,384 ล้านบาท ขยายตัว 5.9% เป็นการส่งออก 621,405 ล้านบาท ขยายตัว 4.7% และการนำเข้า 448,979 ล้านบาท ขยายตัว 7.7% โดยไทยได้ดุลการค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ทั้งสิ้น 172,427 ล้านบาท
สำหรับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 82,748 ล้านบาท เป็นการส่งออก 50,631 ล้านบาท การนำเข้า 32,117 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 18,514 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนกับมาเลเซีย มีมูลค่าสูงสุด 30,228 ล้านบาท
รองลงมา คือ สปป.ลาว 21,941 ล้านบาท เมียนมา 15,721 ล้านบาทลดลง14.% และกัมพูชา 14,859 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกชายแดนสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ น้ำมันดีเซล 2,870 ล้านบาท ส่วนประกอบเครี่องโทรสารและโทรศัพท์ 2,099 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 1,464 ล้านบาท
ทั้งนี้ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การค้าชายแดนมีมูลค่าการค้ารวม 576,218 ล้านบาท ขยายตัว 4.2% เป็นการส่งออก 356,083 ล้านบาท ขยายตัว 2.86% การนำเข้า 220,136 ล้านบาท ขยายตัว 6.4% และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 135,947 ล้านบาท
ด้านการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 75,353 ล้านบาท เป็นการส่งออก 36,459 ล้านบาท และการนำเข้า 38,894 ล้านบาท โดยการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าสูงที่สุด 43,734 ล้านบาท รองลงมาคือ สิงคโปร์ และเวียดนาม มีมูลค่า 8,515 ล้านบาท และ 7,470 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่สินค้าส่งออกผ่านแดนสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ ทุเรียนสด 9,740 ล้านบาท ยางแท่ง TSNR 4,072 ล้านบาท และฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 3,184 ล้านบาท ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 2567 การค้าผ่านแดนมีมูลค่าการค้ารวม 494,166 ล้านบาท ขยายตัว 8.0% เป็นการส่งออก 265,323 ล้านบาท การนำเข้า 228,843 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 36,480 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยการส่งออกชายแดนและผ่านแดนขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรกรรม (เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง) ขยายตัว 24.6%
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำมันปาล์ม) ขยายตัว 4.4% สินค้าอุตสาหกรรม (เช่น ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และแล็ปท็อป) ขยายตัว 15.9% และสินค้าพลังงาน (เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ) ขยายตัว 3.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ยังมีอยู่สูง
รวมถึงความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เช่น น้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และไม้ยางพาราแปรรูป ขยายตัวสูงในตลาดมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
นายณรงค์ กล่าวว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2567 ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดนและระบบขนส่ง/โลจิสติกส์ การส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2568 กรมฯ มีแผนจะดำเนินโครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ ในการเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การบรรลุผลการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่อไป