ยอดขายรถยนต์ยังไม่ฟื้นลุ้นมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อปลายปี

ยอดขายรถยนต์ยังไม่ฟื้นลุ้นมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อปลายปี
ส.อ.ท.เปิดตัวเลขยานยนต์ไทย ลดลงทั้งการผลิต ยอดขายและส่งออก เหตุกำลังซื้อในประเทศลดลง หนี้ครัวเรือนพุ่ง พบหนี้เสียรถยนต์พุ่ง 2.5 แสนล้านบาท

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ ว่าในเดือนส.ค.จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตมีจำนวน 119,680 คัน ลดลงร้อยละ 20.56 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการผลิตเพื่อขายในประเทศและผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 40.49 และ 6.62 ตามลำดับจากการผลิตรถกระบะลดลง และลดลงจากเดือนก.ค.2567 ร้อยละ 4.12

ทั้งนี้ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวนผลิตรวม 1,005,749 คัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 17.69  โดยยอดผลิตของรถยนต์นั่งจำนวน 376,034 คัน เท่ากับร้อยละ 37.39 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 11.09 โดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 616,549 คัน เท่ากับร้อยละ 61.30 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 29.91

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,190 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2567 ร้อยละ 2.60 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 24.98 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนสูงโดยหนี้เสีย (NPL) รถยนต์ ณ ไตรมาสสองของปีนี้ สูงถึง 254,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 จากไตรมาสสองปีที่แล้วและเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำที่ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสสองของปีนี้

ทั้งนี้คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้นจากรัฐบาลใหม่ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนโยบายหลายข้อที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เช่น การแจกเงินหนี่งหมื่นบาทเป็นเงินสดซึ่งจำนวนเงินกว่าหนึ่งแสนล้านบาท การแก้ไขหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นต้น รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ก็ทันใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ด้วย และดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ก็เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 0.50 และอาจจะลดอีกครั้งในปีนี้

ส่วนยอดขายรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 27,754 คัน เท่ากับร้อยละ 61.42 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 13.02   ด้านรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์สันดาปภายใน (ICE) 11,748 คัน เท่ากับร้อยละ 26 ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ร้อยละ 39.31

ขณะที่รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสม (HEV) 8,611 คัน เท่ากับร้อยละ 19.06 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 35.46 และรถกระบะมีจำนวน 12,303 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 37.10

อย่างไรก็ตามภาพรวม 8 เดือน ยอดขายรถยนต์ 399,611 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 23.85  ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 1,163,827 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 ร้อยละ 10.81

ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนสิงหาคม   86,066 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 3.04 แต่ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 1.70 จากปัญหาเรื่องพื้นที่ในเดือนในเรือไม่เพียงพอและล่าช้าจากสงครามอิสราเอลกับฮามาสและปัญหาสิ่งสกปรกในท่าเรือที่ติดในรถกระบะที่เตรียมขับขึ้นเรือ จึงผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 12.92 และส่งออกลดลงในตลาดออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป   ส่งผลให้ 8 เดือน ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 688,633 คัน ลดลงร้อยละ 4.94

ด้านยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนสิงหาคม 2567 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,804 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้วร้อยละ 3  โดยช่วง 8 เดือน มียอดจดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน    69,047 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.34  ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 437,504 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 37.53

“ภาพรวมเดือนส.ค. ตัวเลขยอดผลิต ยอดขาย และส่งออก ลดลงทุกหมดถ้าเทียบงต่ำกว่าช่วงโควิด ใกล้ช่วงต้มยำกุ้ง ขณะที่ยอดรถ EV ป้ายแดงใกล้เคียงกับปีก่อน 7.6 หมื่นคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 แสนคัน”  

 

 

TAGS: #ส.อ.ท. #ยานยนต์ไทย #หนี้เสียรถยนต์ #EV