คู่ค้ากำลังซื้อฟื้นหนุนส่งออกไทยโต เกาะติดบาทแข็งห่วงกระทบปลายปี

คู่ค้ากำลังซื้อฟื้นหนุนส่งออกไทยโต เกาะติดบาทแข็งห่วงกระทบปลายปี
พาณิชย์ ยังไม่ปรับเป้าส่งออกแม้ค่าเงินบาทแข็งค่า ภาพรวม 8 เดือนยังขยายตัว 4.2% ขณะที่ภาคเอกชนวอนรัฐเลื่อนปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทหวั่นซ้ำเติมต้นทุนผลิตพุ่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)   เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (939,521 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 7.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูง

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็เติบโตได้ดี มีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในหลายประเทศ  ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคบริการในตลาดสำคัญ ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น กระตุ้นความต้องการสินค้าจากไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 ดุลการค้า เกินดุล 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.0 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.5 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 17.1 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 1.0 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน(ขยายตัวในตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 46.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ เบนิน และเซเนกัล) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 64.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.5  ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 0.4 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ เม็กซิโก และซาอุดีอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 74.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสิงคโปร์)

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ยังไม่กระทบต่อการส่งออก แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยในช่วง 4 เดือนที่เหลือ โดยยังเชื่อว่าเป้าหมายการส่งออกยังอยู่ที่ระดับ 2 % ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่ประเมินไว้ 297,776 ล้านเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน34บาทต่อเหรียญสหรัฐ)จะเป็นสถิติการส่งออกที่สูงสุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากสัญญาณการคลี่คลายของภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในหลายประเทศ และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในตลาดโลก ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในหลายประเทศ นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  กล่าวว่า  ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อในช่วงปลายปีได้  โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร ขณะเดียวกันในประเด็นการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท อยากให้รัฐบาลเลื่อนการพิจารณาไปก่อนจะเป็นเรื่องที่ดี  เพื่อช่วยลดต้นทุนการส่งออกได้ เนื่องจากตอนนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาทด้วย

 

TAGS: #ส่งออก #ค่าเงินบาทแข็งค่า #ค่าแรง #400 #บาท