สั่งกนอ.เกาะติดระดับน้ำรอบพื้นที่ 68 นิคมฯหวั่นกระทบภาคธุรกิจ

สั่งกนอ.เกาะติดระดับน้ำรอบพื้นที่ 68 นิคมฯหวั่นกระทบภาคธุรกิจ
‘เอกนัฏ’กำชับทุกนิคมฯต้องปลอดภัย เตรียมแผนรับมือมวลน้ำตลอด 24 ชม. ยันระดับน้ำแม่น้ำกวงภาคเหนือยังปกติ ห่วงนิคมฯบางปูยังสร้างเขื่อนไม่เสร็จ 100%

นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์   รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัยอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม พร้อมเตรียมแผนการรับมือและการเตรียมความพร้อม

ทั้งนี้ กนอ.รายงานว่าได้ดำเนินการทดสอบระบบระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ ดังนี้ 1.มีการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถแจ้งเตือนและดำเนินการป้องกันได้ทันท่วงที  2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับสถานการณ์เฉพาะพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู สถานการณ์ปัจจุบันยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า "Rain Bomb" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำกวง ล่าสุดมีรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำกวงปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือถึง 2 เมตร ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเฝ้าระวังและป้องกันน้ำท่วมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. ได้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเคร่งครัด และเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100% แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดให้มีการตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงถนน จะทำให้การสัญจรเข้า-ออก นิคมฯ มีปัญหา อาจส่งผลกระทบถึงเรื่องการขนส่งแรงงาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นๆ มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้เกือบครบทุกนิคมอุตสาหกรรม ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันและมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้ 1. สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2. ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ 3.ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100% 4. สูบระบายพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด ให้มีพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด

5. ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ 6. ให้มีการประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง 7. กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ และ 8. กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมฯ มากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานกลับมาที่ผู้ว่าการ กนอ. หรือผู้บริหาร กนอ.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มีการเตรียมพร้อมสูบระบายน้ำออกนอกพื้นที่นิคมฯ เต็มกำลังทุกสถานีสูบน้ำประสานหน่วยท้องถิ่นชลประทานจังหวัดเพื่อขอการสนับสนุนในด้านอุปกรณ์และการสูบระบายน้ำภายนอกนิคมฯ ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณน้ำฝน คาดการณ์ปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่มีการสื่อสารรายงานสถานการณ์กับ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

 

TAGS: #นิคมอุตสาหกรรม #แม่น้ำกวง #นิคมฯบางปู