'จิ๊กซอว์' ใหม่กลุ่มไทยเบฟ เสริมแกร่งคนดิจิทัล-เทคโนโลยี รับเกมเปลี่ยนธุรกิจแข่งกับ 'Smart Consumer'

'จิ๊กซอว์' ใหม่กลุ่มไทยเบฟ เสริมแกร่งคนดิจิทัล-เทคโนโลยี รับเกมเปลี่ยนธุรกิจแข่งกับ 'Smart Consumer'
ไทยเบฟฯ ลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาทระดับอาเซียน วางแผน ‘PASSION 2030’ เพิ่มโอกาสกระจายสินค้า-เปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล รับเกมใหม่อุตฯเครื่องดื่มและอาหารชิงกำลังซื้อคนรุ่นใหม่ในตลาดภูมิภาค เปลี่ยนไวมาก  

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ (ThaiBev) กล่าวแถลงแนวทางการดำเนินกลุ่มธุรกิจประจำปี 2567 ระบุว่า หลังกลุ่มไทยเบฟ ปรับโครงสร้างองค์กรพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีผลไปเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นั้นยังสอดคล้องกับแผนงานธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร (Drink&Food)ในอีก 5 ปีข้างหน้า (PASSION 2030) ที่ต่อเนื่องจาก PASSION 2025 ที่ประกาศไว้ก่อนหน้า

สำหรับ PASSION 2030 จะเข้ามาต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มไทยเบฟ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารของอาเซียนเพื่อ ‘สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน’ (Enabling Sustainable Growth) พร้อมมุ่งให้ความสำคัญทั้งในด้าน ‘ดิจิทัล เทคโนโลยี’ และ ‘คน’ เพื่อรองรับแผนงานธุรกิจระยะยาวในตลาดระดับภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้ 2 แนวทางหลัก คือ การกระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively) และ ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต (Digital for Growth)

ฐาปน กล่าวว่ากลุ่มไทยเบฟยังเตรียมลงทุนต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในระดับภูมิภาคไปพร้อมแผนพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digitized People) โดยเพิ่มทักษะ (Upskill) งานด้านปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างเติบโตผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่ดิจิทัล (Chief digital officer ) เพื่อดูแลหน่วยงานใหม่ดังกล่าวโดยเฉพาะ เช่นกัน

“แนวทางดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุค Smart Consumer ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจในปัจจุบันที่มีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งธุรกิจจะต้องจัดหาสินค้าที่สร้างทั้งความประทับใจและบริการเพื่อรองรับการทำตลาดในยุคที่ผู้บริโภคถามหาทุกอย่าง” ฐาปน กล่าวพร้อมเสริมว่า “การบริโภคของคนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เห็นได้ชัดหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ แม้ผู้คนจะอยู่ที่บ้านแต่ก็มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นจากเม็ดเงินที่ยังมีอยู่แต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ไทยเบฟมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ”

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมีแผนร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัปท้องถิ่นในแต่ละแห่งเพื่อทำงานร่วมกันซึ่งทั้งหมดจะเป็นการดำเนินงานแบบครอส (Crossing) ระหว่างกันทั้งด้านการค้า การสร้างโอกาสการกระจายสินค้า เพื่อตอบสนองผู้บริโภคในแต่ละตลาดท้องถิ่น ได้อย่างรวดเร็วด้วย  

โดยเมื่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเทคโนโลยีของไทยเบฟมีความแข็งแกร่ง ยังพร้อมเชื่อมโยงไปยังระบบห่วงโซ่ธุรกิจ (Supplychain) ทั้งหมด ที่ปัจจุบันครอบคลุมจุดจำหน่ายสินค้า (Point of Sale) ที่มีกว่า 800,000-900,000 ครอบคลุมร้านค้าปลีกชุมชนดั้งเดิม หรือ โชห่วย และรวมถึงช่องทางจำหน่ายในรูปแบบฟู้ด ทรัค (Food Truck) ด้วย

ขณะเดียวกัน ไทยเบฟ ยังมีแผนประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

ลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาทระดับอาเซียน

ฐาปน กล่าวว่า กลุ่มไทยเบฟเตรียมงบลงทุน 18,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 (เดือนต.ค.67-ก.ย.68) เพิ่มขึ้นจากต่อปีจะลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยงบลงทุนที่เพิ่มมาจากจะเป็นในกลุ่มธุรกิจครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน

โดยหลังจาก กลุ่มไทยเบฟ ทำการโอนหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ เอฟแอนด์เอ็น ในสิงคโปร์ ให้กับบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ มีแผนจะมุ่งเน้นการรวมธุรกิจและการดำเนินงานของเอฟแอนด์เอ็นเข้ากับกลุ่มไทยเบฟ เพื่อเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม จากเดิมมีสัดส่วนรายได้ที่ 7% เพิ่มมาเป็น 20% ของรายได้รวมของกลุ่มไทยเบฟ พร้อมเตรียมใช้งบลงทุน 8,000 ล้านบาทสำหรับฟาร์มโคนม ที่ประเทศมาเลเซีย ถือว่าเป็นการลงทุนใหญ่ในปีงบประมาณ 2568

ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนโรงงานนมและชาเขียวในประเทศกัมพูชา เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมลงทุนในกลุ่มธุรกิจเบียร์ ด้วยเห็นโอกาสตลาดเบียร์ที่กัมพูชาเติบโตเร็วที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอาเซียนเมื่อวัดจากปริมาณขาย โดยมีปริมาณการบริโภครวมต่อปีประมาณ 10 ล้านเฮกโตลิตร และได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2569 และมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตร เมื่อเปิดดำเนินการ ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนธุรกิจร้านอาหาร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับผลประกอบการ 3 ไตรมาสแรก ปี  2567 (ปีงบประมาณ ต.ค.2566-มิ.ย.2567) บริษัทมีรายได้จากการขาย 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อน ส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อยู่ที่ 38,595 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกัน 2.2%

ฐาปน กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันการจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเบาบางลง แต่เชื่อมั่นว่าอนาคตอันใกล้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะว่ารัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากมาตรการเงินหมื่นบาทที่มองว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดหมุนตัวของเศรษฐกิจ”

 

อนึ่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจตลาดเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

โดยไทยเบฟ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ในปี 2549 และในปี 2555 ได้ขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (“F&N”) ในประเทศสิงคโปร์  โดยในปี 2560 ไทยเบฟ ยังได้เข้าซื้อหุ้นในแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป (“GRG”) ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในตลาดวิสกี้ของประเทศเมียนมา และหุ้นในบริษัทไซ่ง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (“ซาเบโก้”) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ส่งผลให้ไทยเบฟก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในด้านปริมาณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน ธุรกิจของไทยเบฟประกอบด้วย 4 สายธุรกิจ ได้แก่

  • สุรา
  • เบียร์
  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • และอาหาร

โดยกลุ่มบริษัทไทยเบฟมีโรงงานผลิตสุรา 19 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีก 20 แห่งในประเทศไทย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมจุดขายมากกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทไทยเบฟจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีเครือข่ายโรงงานผลิตเบียร์ 26 แห่งในเวียดนาม ที่ผลิต Bia Saigon และ 333 ของซาเบโก้ โรงงานผลิตสุรา 5 แห่งในสกอตแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์ เช่น บัลแบลร์ (Balblair) โอลด์ พุลท์นีย์ (Old Pulteney) และสเปย์เบิร์น (Speyburn)

โรงงาน 1 แห่งในฝรั่งเศส สำหรับผลิตสุราลาร์เซน คอนญัก โรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้ผลิตสุราซิงเกิ้ลมอลต์โลกใหม่ (New World Spirits) ของคาร์โดรนา โรงงาน 2 แห่งในเมียนมาของ GRG และโรงงานผลิตสุรา 1 แห่งในจีนซึ่งสำหรับผลิตสุราอวี้หลินฉวน (Yulinquan)

กลุ่มผลิตภัณฑ์สุราที่มีชื่อเสียงของไทยเบฟประกอบด้วย รวงข้าว หงส์ทอง เบลนด์ 285 แสงโสม แม่โขง และ แกรนด์ รอยัล วิสกี้

นอกจากนี้ เบียร์ช้างซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หลัก ยังเป็นหนึ่งในเบียร์ของไทยที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ซาเบโก้มีผลิตภัณฑ์ Bia Saigon และ 333 ซึ่งเป็นเบียร์ที่มียอดขายอันดับต้น ๆ ในประเทศเวียดนาม

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไทยเบฟมีตราสินค้าชั้นนำ ได้แก่ ชาเขียวโออิชิ เครื่องดื่มอัดลมเอส โคล่า น้ำดื่มคริสตัล เครื่องดื่มอัดลม F&N และเครื่องดื่มเกลือแร่ 100PLUS

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมทั้งอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และได้ขยายธุรกิจอาหารผ่านบริษัทย่อย คือ ฟู้ด ออฟ เอเชีย และธุรกิจแฟรนไชส์เคเอฟซี ซึ่งเป็นร้านอาหารบริการด่วนที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศไทย

ไทยเบฟเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในหุ้นที่ใช้อ้างอิงในดัชนีสเตรทส์ไทม์ (“STI”)

นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และเป็นสมาชิกในดัชนี DJSI World และดัชนี DJSI Emerging Markets

ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยเบฟ  (ThaiBev) กำลังกลับมาเตรียมแผนการเสนอขายหุ้นไอพีโอของหน่วยธุรกิจเบียร์ของบริษัท หลังตลาดหุ้นทั่วโลกเติบโตขึ้น โดย ไมเคิล ไชน์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเบียร์ ไทยเบฟ กล่าวในงานแถลงข่าวฯ ว่า ThaiBev อาจเสนอขายหุ้น IPO ของหน่วยธุรกิจเบียร์ที่มีชื่อว่า BeerCo อย่างเร็วที่สุดในในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า หากบริษัทสามารถตัดสินใจเรื่องการขายหุ้น ThaiBev ได้ภายในเดือนธันวาคม

 

TAGS: #ไทยเบฟเวอเรจ #ไทยเบฟ #ThaiBev #ฐาปนสิริวัฒนภักดี