ผลประโยชน์องค์กร มาก่อน ‘คีย์’ พลิกการบินไทยฟื้นแกร่ง ‘ปิยสวัสดิ์’ย้ำไร้สภาพรัฐวิสาหกิจ คือ ‘อิสระ’

ผลประโยชน์องค์กร มาก่อน ‘คีย์’ พลิกการบินไทยฟื้นแกร่ง ‘ปิยสวัสดิ์’ย้ำไร้สภาพรัฐวิสาหกิจ คือ ‘อิสระ’
‘การบินไทย’ กลับเข้าตลาดฯไตรมาส2ปี68 พร้อม 5 กลยุทธ์พาธุรกิจบินให้สูงกว่าเก่า สู่เป้าหมายส่วนแบ่งตลาดสายการบินเจ้าบ้านมากกว่า 40% ตั้งความหวังบอร์ดกรรมการฯ เซฟองค์กรในอนาคต

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)  แถลงแผน ‘การบินไทยเผยทิศทางใหม่ที่บินไกลกว่าเดิม พร้อมความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ’ เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่าหลังบริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2563 พร้อมนำกิจการออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2564 โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ‘การบินไทย’ ดำเนินแผนการฟื้นฟู ทั้งการชำระหนี้ การเจรจาลดหนี้ และการขยายระยะเวลา รวมถึงให้สิทธิ์เจ้าหนี้กระทรวงการคลังในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท พร้อมเริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างทุนที่ประกอบด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ตามแผนฟื้นฟูฉบับปัจจุบัน ในปี 2565

จากการดำเนินงานตามแผนฯ ในปี2567 การบินไทย ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฯ การลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมและนัดปรุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาวันที่ 8 พ.ย.นี้ โดยภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567 จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ

โดยในช่วงไตรมาสแรกปี2568 ผู้บริหารแผนอนุมัติงบการเงินสำหรับปี 2567  พร้อมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการบรืษัทฯ ตามแผนฟื้นฟู และเตรียมนำการบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นำไตรมาส2 ปี 2568

ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า “ช่วงระหว่างทำแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยเป็นธุรกิจเอกชนการบินน่าจะเป็นรายเดียวของโลกในช่วงนั้นที่ไม่มีเงินเข้ามาแม้แต่บาทเดียว ด้วยในขณะนั้นไม่ได้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่เมื่อมองผ่านไปกลับไปเรื่องดีที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อย่างจริงจัง”

สำหรับ การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทย ประกอบด้วย

  • การปรับลดขนาดองค์กร ด้านจำนวนพนักงานในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16,000 คนจากก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟูฯ มีจำนวนราว 25,000 คน
  • การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
  • การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Airways Mobile App เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และระบบ HR Core Value มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน
  • การปรับโครงสร้างทางการเงิน เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

“ในช่วงปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งการลดคนรวมไปถึงความสมัครใจลดเงินเดือนของพนักงานการบินไทยเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้นั้น ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ที่ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ มาด้วยกัน” ปิยสวัสดิ์ ย้ำ

พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ การบินไทยยังบรรลุเป้าหมายแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

  • การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง
  • การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท

ทั้งนี้ การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่

  • ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน
  • พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement)

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ

ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า “หลังการบินไทยออกจากเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้คล่องตัวขึ้น เพราะไม่มีกฎระเบียบเข้ามากำกับในยุคธุรกิจการบินแข่งขันสูงบนน่านฟ้าเสรี ที่ต้องใช้การตัดสินใจทุกอย่างเร็วขึ้น และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบินไทย ผ่านพ้นมาได้ ถึงในปัจจุบันยังสะสมเงินได้มากกว่า 8 หมื่นล้านบาท”   

พร้อมสริมต่อ ในส่วนของพนักงานการบินไทยในปัจจุบันมีอยู่ราว 15,000-16,000 คนในปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนลดไปราว 50% เทียบก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟูฯ อยู่ที่ราว 25,000 คนนั้น จะต้องใช้งบประมาณด้านบุคลากรไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันใช้งบฯอยู่ที่ 700 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนพนักงานฝ่ายปฏิบัติการสนับสนุน 10% ส่วนที่เหลือเป็นการว่าจ้างพนักงานให้บริการจากภายนอก (Outsource) ซี่งจะปรับจำนวนพนักงานบริการเพิ่มขึ้นตามปริมาณเที่ยวบินและอื่นๆ โดยในปีนี้คาดมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 17,000 คน ตามแผนธุรกิจและการตลาดของการบินไทยที่วางไว้

ปิยสวัสดิ์ กล่าาวทิ้งท้าย ต่อคำถามผู้สื่อข่าวในประเด็นการแทรกแซงเชิงนโยบายจากภาครัฐจะกระทบการบินไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่นั้น "คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ต่อไป คือ กระทรวงการคลัง เจ้าหนี้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน สถาบันการเงิน หุ้นกู้ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ในการเลือกกรรรมการบริหารบริษัทฯ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการองค์กรที่ดีได้ในอีกสิบปีข้างหน้า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกิจการ"

“จำเป็นที่จะต้องได้คนที่ดีเข้ามาอย่าเป็นแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบมากมายตามขั้นตอนต่างๆ การตัดสินใจทำได้ช้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้ายในระดับต่างๆ แต่ทั้งนี้ การบินไทย อยู่ในธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก เพราะฉะนั้นได้หากได้คนไม่ดีเข้ามาบริหาร บริษัทก็จะสู้กับสายการบินอย่างลุฟต์ฮันซ่า หรือ สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไม่ได้”   

 

‘Prepare for Takeoff’ ขอบฟ้าใหม่

 

ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ

  • ASK หรือ Available Seat Kilometers ตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร
  • Aircraft utilization อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน
  • Cabin factor อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง” ชาย กล่าว

สำหรับ ความสำเร็จจากการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การปรับเส้นทางบินและความถี่ของเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมถึงการยกระดับคุณภาพการบริการในทุก ๆ จุดสัมผัส ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น

โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565

“วันนี้ การบินไทยพร้อมก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ Fly for The New Pride เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการบินไทยให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม พร้อมเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้โดยสาร และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง ในฐานะสายการบินเจ้าบ้านที่จะต้องมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 40% ในอนาคต จากในปี2566 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 27%”

พร้อมดำเนินการด้วย 5 กลยุทธ์สู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ของการบินไทย ประกอบด้วย

  • การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม: เชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก
  • การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร: เน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน: เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
  • การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่: เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว
  • การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

รื้อจัดซื้อใหม่/เลิกสวัสดิการตั๋วฟรี VIP

 

ชาย กล่าวต่อถึงแผนปรับปรุงฝูงบินให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบิน โดยในสิ้นปี 2567 จะมีเครื่องบินทั้งหมด 79 ลำแบ่งเป็น ลำตัวกว้าง 59 ลำ และลำตัวแคบ 20 ลำ  โดยในปี 2572 วางแผนเพิ่มฝูงบินเป็น 143 ลำ แบ่งเป็นลำตัวกว้าง 91 ลำ และ ลำตัวแคบ 52 ลำ พร้อมวางเป้าหมายลดเครื่องบินใมห้เหลือ 4 แบบ ในรุ่น B777-300ER, รุ่น A350, รุ่น B787, รุ่น A320 และในปี 2576 จะมีฝูงบินเพิ่มเป็น 160 ลำ แบ่งเป็นลำตัวกว้าง 98 ลำ และลำตัวแคบ 52 ลำ

“แผนจัดหาเครื่องบินระยะยาว จะดำเนินการอย่างสุจริตโปร่งใส มีธรรมาภิบาล โดยบริษัทจะออกเอกสารเชิญยื่นข้อเสนอราคา (RFP) รวมถึงรวมถึงเจรจาต่อราคาโดยตรงกับผู้ผลิตเครื่องบินทั้งหมด” ชาย กล่าวพร้อมเสริมอีกว่า

“ในช่วงที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนถึงพนักงานการบินไทยอยู่บ่อยครั้งว่ากินหรูอยู่สบาย แต่จากการปรับเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ยังได้ปรับสิทธิประโยชน์พนักงานด้านบัตรโดยสารใหม่ด้วย”

โดยการบินไทยได้ 'ยกเลิก' การออกบัตรโดยสาร 4 ประเภทเดิม ดังนี้ 

  1. บัตรโดยสารสำรองที่นั่งไม่ได้  (R2 100%) ของอดีตพนักงานคู่สมรส และบุตรอายุต่ำกว่า 25ปี ที่ยังไม่ได้สมรส
  2. บัตรโดยสารสำรองที่นั่งได้ (R1 100%) ให้กับ อดีตผู้บริหารระดับ EVP ,SVP คู่สมรสและบุตรอายุมาเกิน35ปี ไม่จำกัดสถานภาพสมรส อดีตผู้บริหารระดับ VP, MD คู่สมรส และ บุตรอายุมาเกิน35ปี ไม่จำกัดสถานภาพสมรส
  3. พนักงานระดับ9 ขึ้นไป และ นักบินอาวุโส
  4. พนักงานระดับ 10 ขึ้นไปและกัปตัน

สำหรับ การออกบัตรโดยสาร ZED (Zonal Employee Discount) บัตรโดยสารลดราคาแบบสำรองที่นั่งได้สำรองที่นั่งไม่ได้ในเส้นทางบินบริษัทฯ ทั้งในและต่างประเทศ ของพนักงานและอดีตพนักงาน คู่สมรส บุตร แบละ บิดามารดา ได้ไม่เกิน 6 ฉบับ/คน/ปี  

ครึ่งแรกปี67 ขนผู้โดยสารกว่า 7 ล้านคน

 

ด้าน เฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง

“แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน” เฉิดโฉม กล่าว  

โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำรวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายและการยกเลิกมาตรการการจำกัดการเดินทางของหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%

แผนทยอยจ่ายหนี้

 

ขณะที่ แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ บริษัทฯ ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เงินต้นคงค้างทั้งหมด 

นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน

อีกทั้ง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

และเพื่อความสำเร็จของการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฯ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาหุ้นของการบินไทยภายหลังกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากการแปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่หุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะให้เจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นจากการแปลงหนี้เป็นทุนแต่ละรายสามารถขายหุ้นในส่วนดังกล่าวของตนได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ตนถูกห้ามขาย

และสำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 59.01 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน (โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้การบินไทยมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ)  พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ

โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 และคาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2567 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป

อนึ่ง การบินไทย เป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Airline) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 และมีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ

  • การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก โดยพิจารณาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ (คิดเป็นล้านคน-กิโลเมตร) ของปี 2566

ปัจจุบัน มีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบิน ใน 27 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 54 จุดบินในต่างประเทศ และ 8 จุดบินภายในประเทศ

 

TAGS: #การบินไทย #ปิยสวัสดิ์อัมระนันทน์