ค่าไฟผ่านจุดแพงสุดไปแล้ว คาดปีนี้ร้อนจัดไฟพีคทำนิวไฮ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์

ค่าไฟผ่านจุดแพงสุดไปแล้ว คาดปีนี้ร้อนจัดไฟพีคทำนิวไฮ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์
สนพ.เผยค่าไฟในงวดที่เหลือของปีมีโอกาสถูกลง ผลจากราคาก๊าซฯตลาดโลกเริ่มลด ส่วนอากาศร้อนจัดได้เห็นการใช้ไฟสูงสุดทะลุ 34,000 เมกะวัตต์

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลงได้ตามราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ในตลาดโลก  ซึ่งค่าไฟฟ้าของประเทศถือว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยค่าไฟฟ้าสูงสุดเดือนม.ค.-เม.ย. แยกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าไฟบ้านอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้กลุ่มอื่น(ภาคอุตสาหกรรมและอื่น)  5.33 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้อีกเหตุผลที่ทำให้ค่าไฟถูกลงเป็นผลจากกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่าราคาตลาดโลก โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ(G1) จะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน จากปัจจุบัน 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และในเดือนธ.ค.2566 จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน จากนั้นในเดือนเม.ย.2567 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง ไม่เกิน 300 หน่วย เพื่อลดผลกระทบนั้น คงต้องการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ​หากได้รับความเห็นชอบ จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อขออนุมัติก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการเพราะต้องใช้งบประมาณกลางมาดูแลในส่วนนี้ประมาณ 8,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดทำให้ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก เมื่อรวมกับปัจจัยของเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว คาดการณ์ปริมาณความต้องการรใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)​ ในระบบ 3การไฟฟ้าปีนี้จะทำนิวไฮไม่ต่ำกว่า 34,000  เมกะวัตต์​ ซึ่งหากรวมกับไฟฟ้าของเอกชนที่ผลิตเพื่อใช้เอง(ไอพีเอส)​อีก5,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ความต้องการไฟฟ้า​ของประเทศอาจสูงถึง 39 ,000 เมกะวัตต์​ในปีนี้

นายวัฒพงษ์  กล่าวว่า แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8  อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมัน จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ

ด้านการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

 

TAGS: #ค่าไฟฟ้า #ไฟพีค #บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ #ก๊าซธรรมชาติ