‘คนรุ่นใหม่’ เน้นเช่าอพาร์ทเม้นต์ใกล้รถไฟฟ้าพุ่งเกือบ 100% กำลังซื้อ 2 ใน 3 ผ่อนบ้านไม่ไหวล้านละ 7 พันบาท ส่วนอีก 1 ใน 3 ซื้อได้ด้วยพ่อแม่
พรนริศ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ‘บ้าน’ ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง (Super Rich) ระดับราคา 50-100 ล้านบาทขึ้นไป ในโซนกรุงเทพกรีฑา หรือ ราชพฤกษ์ โดยกลุ่มสินทรัพย์ราคา 7-10 ล้านบาท ผู้บริโภคเริ่มเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น
“คนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงานรับเงินเดือนเฉลี่ย 15,000-20,000 บาท แทบไม่มีโอกาสซื้อบ้านได้ ด้วยอัตราการผ่อนล้านละ 7,000 บาท หากซื้อที่อยู่อาศัยระดับเริ่มต้นราคา 2 ล้านบาท เท่ากับมีภาระการผ่อนราว 14,000 บาทต่อเดือน” พรนริศ กล่าวพร้อมเสริมว่า
ทั้งนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยส่งผลให้อพาร์ทเมนต์ ทำเลติดรถไฟฟ้าสายหลัก อย่าง BTS สายสีเขียว และ MRT สายสีน้ำเงิน มีอัตราการเช่าเกือบเต็ม 100% ด้วยผู้เช่าใช้งบประมาณเช่าราว ๆ 6,000-7,000 บาท จ่ายค่าเช่าเท่า ๆ กับการซื้อโครงการใหม่
สำหรับอพาร์ทเมนต์ในทำเลใกล้กับรถไฟฟ้าสายรองลงมา ยังเป็นกลุ่มสินค้าที่แข่งขันในตลาดเดียวกับคอนโดปล่อยเช่าในย่านชานเมือง ซึ่งยังมีอัตราว่างค่อนข้างมาก และมีบางส่วนปล่อยให้เช่าระยะยาว และและระยะสั้น ให้กับชาวต่างชาติ อาทิ คนจีน
“ขณะที่คอนโดบางส่วน เจ้าของห้องมีการปล่อยเช่าแบบรายวัน แม้จะผิดกฎหมาย แต่มีช่องโหว่ตรงที่หากใน 1 คอนโด ปล่อยรายวันไม่ถึง 4 ห้อง จะเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้” พรนริศ กล่าว
กำลังซื้อคนรุ่นใหม่ ซื้อบ้านยากขึ้น
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ 2 ใน 3 ไม่สามารถซื้อบ้านได้ ส่วนอีก 1 ใน 3 ซื้อบ้านได้เพราะมีพ่อแม่ช่วย ซึ่งหากไม่มีกลไกถาวรเข้ามาสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ให้คนไทยอาจไม่มีบ้านถาวร
ขณะที่ แนวทางแก้ไขให้มีความเป็นไปได้ อาทิ
- การเก็บภาษีต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัยในไทย หรือเพิ่มค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วนำเงินมาช่วยอุ้มกลุ่มคนไทยรายได้น้อยให้เข้าถึงบ้านได้
- ออกมาตรการที่อยู่อาศัยทุกยูนิตที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ได้ดอกเบี้ย 0% นาน 3 ปี เพื่อตัดเงินต้นให้มากที่สุด จนผ่อน 3 ปี อาจเหลือเงินต้นเพียง 70% เท่านั้น
สถานการณ์ดังกล่าว ยังสอดคล้องผลสำรวจล่าสุดจาก DDproperty เผยแนวคิดผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย ยังพบสัดส่วนผู้เลือกเช่าที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 10% (จากเดิม 14%) ขณะที่ผู้บริโภค 7% วางแผนจะรับมรดกที่อยู่อาศัยจากพ่อแม่และผ่อนชำระต่อ ส่วนอีก 32% ยังคงไม่มีการวางแผนซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยใด ๆ ในเวลานี้
- ผู้เช่า 39% วางแผนเช่า 2 ปี ก่อนจะซื้อที่อยู่อาศัยในภายหลัง
- ผู้เช่า 29% ไม่แน่ใจว่าจะเช่าอีกนานแค่ไหน เนื่องจาก ยังต้องพิจารณาปัจจัยความพร้อมด้านอื่น ๆ อีกครั้ง
- ผู้เช่า 5% ตั้งใจจะเช่าอยู่ตลอดชีวิต
สำหรับอัตราค่าเช่าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในหมู่ผู้เช่า มีดังนี้
- ผู้เช่า 46% สนใจราคาไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน
- ผู้เช่า 32% สนใจราคา 5,001-10,000 บาท/เดือน
- ผู้เช่า 9% สนใจราคา 10,001-15,000 บาท/เดือน
วิถีเจนฯใหม่ หาเช่าราคาย่อมเยา
ขณะที่แนวโน้ม เทรนด์การมองหาที่อยู่อาศัยให้เช่าที่มีราคาย่อมเยา ตอบโจทย์สถานะทางการเงินในยุคปัจจุบันเป็นหลัก โดยกลุ่มเจนเนอเรชั่นวาย (Y) และ ซี(Z) วัยที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว มีเพียง 37% เท่านั้นที่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 63% ไม่มีแผนย้ายออกเร็ว ๆ นี้
ขณะที่เหตุผลหลัก คือ ต้องการดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด 43% รองลงมาคือตั้งใจรับช่วงต่อบ้านของพ่อแม่ 28% และไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยของตัวเองในเวลานี้ 27%
เทรนด์ดังกล่าว สะท้อนถึงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่วางแผนทางการเงินในการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าการหาซื้อเพื่อครอบครองอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย หรือเก็บสะสมเพื่อการลงทุน ที่แตกต่างจากจากในอดีต