‘แสนสิริ’ มองอสังหาฯไทยท้ายปี67ถึงปีหน้าโครงการระดับกลาง-สูง ยังได้ไปต่อขยายทำเลหัวเมืองใหญ่-กำลังซื้อสูง มองโอกาสโรงงานไฮเทคฯบุกไทย รับดีมานด์อยู่อาศัยกลุ่ม Expat ต่างชาติพำนักอาศัยขยายตัว
ภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ ประธานผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เปิดเผยว่าบริษัทฯ ประเมินสถานการณ์อสังหาฯ ไทยในปลายปี 2567 และ เข้าสู่ในปี 2568 คาดความต้องการที่อยู่อาศัยยังยายตัวในกลุ่มระดับราคา 7-10 ล้านบาท ส่วนโครงการอสังหาฯระดับหรู (ลักซูรี่) ราคาตั้งแต่ 30ล้านบาทขึ้น ยังมทยอยทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
"ในช่วงที่ผ่านมาโครงการอสังหาฯ กลุ่มคอนโดในบางทำเลกรุงเทพฯ มีซัพพลายลดลงสวนทางความต้องการอยู่อาศัยของผู้บริโภค” ภูมิภักดิ์ กล่าวพร้อมเสริมว่า “ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาพรวมในหลายโครงการฯ เจอปัญหาการรายงานผลสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้การพัฒนาโครงการฯ ล่าช้าออกไปจากแผนเดิมที่วางไว้"
อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทฯ มีโครงการฯ ต่างๆ อยู่ระหว่างรอการพัฒนาในแต่ละช่วง จึงทำให้สามารถสลับเปลี่ยน (Shift) การก่อสร้างในแต่ละโครงการได้ตามกรอบใหญ่ที่วางไว้ได้ในช่วงระหว่างโครงการขออีไอเอ
ขณะเดียว บริษัทยังวางกลยุทธ์การพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ไปยังทำเลยุทธศาสตร์ที่มีกำลังซื้อสูง ในหัวเมืองใหญ่ ชลบุรี (พัทยา) ประจวบคิรีขันธ์ (หัวหิน) ภูเก็ต และ เชียงใหม่ ด้วยเป็นจังหวัดเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงจากความต้องการทั้งกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น และ ชาวต่างชาติ
“ปัจจุบันโครงการฯในตลาดท่องเที่ยว บริษัทฯ มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติ ราว 20%” ภูมิภักดิ์ กล่าว พร้อมเสริมว่า
กลยุทธ์ดังกล่าว ยังสอดคล้องกับภาพรวมการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย จากแนวโน้มการเข้ามาลงทุนโรงงานขั้นสูง หรือ ไฮเทคโนโลยี ขนาดใหญ่ในประเทศ ทั้ง ศูนย์ข้อมูล (Data Center) โรงงานผลิตชิปเซ็ท หรือ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น หนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้แรงงานต่างชาติเข้ามาพำนักอาศัยในไทย (Expat) เป็นจำนวนมากขึ้น และต้องการที่อยู่อาศัยตามมาอีกเช่นกัน
ภูมิภักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ ประกอบด้วย 2-3 ประเด็น คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ยังแข็งค่า ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาท/ดอลล่าร์ บาท/ดอลลาร์ฯ จากก่อนหน้าเคยเงินบาทมีอัตราอ่อนค่าอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์
"จีดีพีของไทยพึ่งพาการส่งออกอยู่ที่ 65% การท่องเที่ยวราว 20% ภาคค้าปลีกกว่า 10% และภาคอสังหาฯ ราว 5% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น และการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นคืนกลับมาแล้ว แต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเวลานี้มีผลต่อรายได้กลับเข้ามาประเทศลดลง" ภูมิภักดิ์ กล่าวพร้อมเสริมอีกว่า "ช่วงที่ผ่านมาอสังหาฯในตลาดต่างชาติ มีการตัดสินใจซื้อช้าลง จากราคาโปรดักส์สูงขึ้นราว 5% จากเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้น"
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังต้องจับตาทิศทางดอกเบี้ยในการประชุมผลการประชุม กนง. ในวันที่ 16 ต.ค. ด้วยว่าจะออกมาเป็นเช่นไร รวมไปถึง หนี้สาธารณะ และ หนี้ครัวเรือน ถือเป็นดาบสองคมของเศรษฐกิจไทย
- หนี้สาธารณะไทย: 62% ของ GDP (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก)
- หนี้ครัวเรือนไทย: 92% ของ GDP (สูงกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว)
"จากระดับหนี้สิ้นครัวเรือนสูง ทำให้การกู้ยืมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย และจากอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้ปรับลดลงก็ส่งผลกระทบ 2 เด้งกับผู้ประกอบการ นั่นคือ ภาระดอกเบี้ยยังไม่ลดสำหรับกำลังซื้อในประเทศ ส่วนกำลังซื้อจากต่างประเทศก็ลดลงเนื่องจากสินค้ามีราคาสูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท" ภูมิภักดิ์ กล่าว
ขณะที่ สถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ความต้องการโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถปรับตัวได้ก็ยังทำผลประกอบการได้ดี เนื่องจากมีสายป่านที่ยาวกว่า หันไปพัฒนาสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเจาะตลาดที่มีกำลังซื้ออยู่ อย่างไรก็ตามสถานการณ์แบบนี้ถ้าปล่อยต่อไปก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมเท่าไหร่ เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งเซ็กเตอร์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำคัญ
ภูมิภักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ปัจจุบันไทยมีบริษัทข้ามชาติมาลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติมีมากขึ้น ซึ่งการปรับกฏเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งการเก็บภาษีจากชาวต่างชาติและบริษัทต่างชาติก็เป็นสิ่งที่ต้องมาดูกันเข้มข้นขึ้น เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาและไม่เสียโอกาส เพื่อรองรับการลงทุนอีกมากที่จะเกิดขึ้นในไทย ด้วยอสังหาฯ ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของภาคนี้จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ"