ธนาคารพาณิชย์ จับมือประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%

ธนาคารพาณิชย์ จับมือประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25%
ธนาคารพาณิชย์ พาเหรด ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% มีผลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.575% เป็น 7.325% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.30% เป็น 7.175% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% เป็น 6.925% ต่อปี 

โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 

ธนาคารกสิกรไทย

ด้านนายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุด 0.25% เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็กที่รายได้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเป็นการช่วยพยุงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาสำหรับโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมให้สามารถปรับตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนและยังคงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย

ทั้งนี้ ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามรายละเอียด ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR)  ปรับลด 0.12% จาก 7.27% เป็น 7.15% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จาก 7.59% เป็น 7.34% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.12% จาก 7.30% เป็น 7.18%

ในขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด โดยให้มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

ทีเอ็มบีธนชาต

ขณะที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและเป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้กับประชาชนนั้น ทีทีบีมีความห่วงใยลูกค้าพร้อมขานรับนโยบายดังกล่าว จึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.25% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย MLR และอัตราดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.125% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

สำหรับลูกค้ารายย่อยและ SME ในกลุ่มเปราะบาง ทีทีบีตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อนหน้า นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ธนาคารยังมีการต่ออายุมาตรการออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องและลดภาระหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ประกาศอีก 0.25%  ซึ่งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว มีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงรวม 0.375-0.50% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะปรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสม เมื่อมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง

สำหรับด้านเงินฝาก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเงินออมที่กังวลว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะทยอยปรับลดลง ทางทีทีบีมีบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ อัพ แอนด์ อัพ 24 เดือน ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเงินฝากทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะให้ดอกเบี้ยสูงตั้งแต่ 6 เดือนแรก เริ่มต้นที่ 1.5% ต่อปี และรับดอกเบี้ยสูงขึ้นทุก ๆ 6 เดือน โดยรับดอกเบี้ยสูงสุด 2.0% ต่อปี และยังสามารถถอนก่อนครบกำหนดได้หากมีความจำเป็นในการใช้เงิน จึงเหมาะกับทั้งผู้ที่ฝากระยะสั้นก็จะได้รับดอกเบี้ยสูง และหากฝากต่อเนื่องก็จะเป็นการล็อกเรทอัตราดอกเบี้ยที่ดีในระยะยาว 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ด้านนายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรุงศรี พร้อมตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชน โดยได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม

กรุงศรีปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยใหม่เป็นดังนี้

• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 7.280% เป็น 7.155%

• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 7.575% เป็น 7.325%

• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 7.400% เป็น 7.275%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความห่วงใยและมุ่งมั่นช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

ธนาคารกรุงเทพ

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงสูงสุด 0.20% สำหรับเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ / MLR (Minimum Loan Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา ลดลง 0.20% เป็น 6.90% ต่อปี   ส่วนอัตราดอกเบี้ยเอ็มโออาร์ / MOR (Minimum Overdraft Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) ลดลง 0.20% เป็น 7.35% ต่อปี  และอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ / MRR (Minimum Retail Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีปรับลดลง 0.05% เป็น 7.00% ต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ไปแล้ว 0.25% ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ 

ในส่วนเงินฝากลูกค้าบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์ เป็น 0.25 – 0.30% ต่อปี   เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.00% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.10% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.45% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 1.70% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 1.75% ต่อปี ส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 1.50% ต่อปี และวงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท 0.45% ต่อปี  

TAGS: #ธนาคารพาณิชย์