ธนาคารกรุงไทย คาดค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แนวรับใหม่ 34 บาทต่อดอลลาร์ เตือนนักลงทุนระวังความผันผวนรุนแรง เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิด ณ วันอังคารที่ 22 ตุลาคม ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันอังคารที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.47-33.85 บาทต่อดอลลาร์) จนทะลุแนวต้าน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ที่ธนาคารประเมินไว้ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งยังคงได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ธนาคารยังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิม ที่ประเมินแนวโน้มเงินบาททยอยอ่อนค่า (ธนาคาร call USDTHB bottom แถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา) หลังเงินบาทได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้ในเชิงเทคนิคัล เงินบาท (USDTHB) อาจทำ Cup with Handle หรือ Trend Change ใน Time Frame รายวัน ได้สำเร็จ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปถึงโซน 34.00-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงดำเนินต่อไป อาทิ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades รวมถึง บรรดานักลงทุนต่างชาติต่างยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ท่ามกลางบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน
นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้มีจังหวะอ่อนค่าลง โดย เราประเมินว่า เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงมาเกินปัจจัยพื้นฐานพอสมควร และยังมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้มากกว่าเงินบาท ทำให้เราคงแนะนำ Buy on Dip JPYTHB ซึ่งในช่วงนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัล อย่าง RSI Bullish Divergence ก็สะท้อนโอกาสที่ เงินเยนญี่ปุ่น JPYTHB อาจแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาทองคำก็ยังมีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการถือทองคำในช่วงเผชิญความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงแถวโซนแนวต้านใหม่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลดัชนี PMI ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะหาก ดัชนี PMI ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากขึ้น กดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง ซึ่งอาจเห็นการรีบาวด์สูงขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำและการกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาทได้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์